สปสช.ก้าวสู่ปีที่ 18 ความมั่นคงสุขภาพเพื่อคนไทย รุกพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพ
สปสช. ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 18 “ความมั่นคงสุขภาพเพื่อคนไทย” รุกพัฒนา “กองทุนบัตรทอง” ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ปัจจัยสู่ผลสำเร็จ เดินหน้า ยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 4 “ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล”ต่อเนื่อง เน้นความร่วมมือทุกภาคส่วน
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานพิธีเปิดงาน “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี โดยปีนี้ครบรอบปีที่ 17 และย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ของการก่อตั้ง สปสช. พร้อมวางพวงมาลัยรูป นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ณ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรกและเป็นผู้ผลักดันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.เป็นองค์กรของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2545 ตามพันธกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชนไทยกว่า 48 ล้านคน ที่ไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้สูงอายุ ซึ่งการดำเนินงานตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในส่วนการรับบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 111.95 ล้านครั้ง ในปี 2546 เป็น 184.56 ล้านครั้ง ในปี 2561 คิดเป็นอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 2.45 เป็น 3.84 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่การรับบริการผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจาก 4.30 ล้านครั้ง ในปี 2546 เป็น 6.22 ล้านครั้ง ในปี 2561 หรือคิดเป็นอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 0.094 เป็น 0.127 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่ในส่วนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค นอกจากการให้บริการโดยหน่วยบริการแล้ว ที่ผ่านมายังดำเนินการเชิงรุกผ่านกลไก “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กองทุนสุขภาพตำบล) เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ โดยมี อปท.ร่วมจัดตั้งกองทุนแล้วกว่า 7,736 แห่งทั่วประเทศ
ซึ่งสะท้อนถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนที่เป็นผลจากการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากระยะที่ 1 (ปี 2546-2550) “มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจ” สู่ระยะที่ 2 (ปี 2551-2554) มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจ และผู้ให้บริการมีความสุข และระยะที่ 3 (ปี 2555-2559) ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 4 (ปี 2560-2564) ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ยังเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรวิชาชีพ นักวิชาการ เครือข่ายผู้ป่วย และเครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น ที่เป็นกำลังสำคัญของระบบที่ก่อให้เกิดการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทำให้ครอบคลุมการดูแลแม้แต่โรคซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง อาทิ โรคหายาก เป็นต้น ขณะเดียวกันยังเป็นการลดภาระหนี้สินและความยากจนจากค่ารักษาพยาบาล จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากร้อยละ 7.07 ในปี 2533 เหลือร้อยละ 2.26 ในปี 2560 และครัวเรือนที่กลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากจ่ายค่ารักษาพยาบาล ลดลงจากร้อยละ 2.34 ในปี 2533 เหลือร้อยละ 0.24 ในปี 2560
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การก้าวย่างสู่ปีที่ 18 สปสช. มุ่งมั่นพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องให้เป็นความมั่นคงสุขภาพเพื่อคนไทย นอกจากการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นแล้ว ยังได้เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ นำร่องบริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ HIV (ยา PrEP) ตรวจคัดกรองยีนส์ HLA เพื่อป้องกันอาการแพ้อย่างรุนแรง คัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 35 ปี วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก (Rota virus vaccine) และค่าชดเชยวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน MMR เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดในภาคใต้ เป็นต้น รวมถึงการรุกงานกองทุนสุขภาพตำบลร่วมกับท้องถิ่น เพื่อมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี
“ความสำเร็จของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นความภาคภูมิใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและคนไทยทุกคน เพราะไม่เพียงแต่เป็นหลักประกันมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน แต่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประเทศมีความมั่นคงจากประชากรที่มีสุขภาพที่ดี” เลขาธิการ สปสช. กล่าว