เอฟเอโอชี้ไทยขาดแผนรับมือโรคระบาดสัตว์สู่คน
สัตวแพทย์แนะบทเรียนโรคระบาดสัตว์สู่คน “ไม่เตรียมข้อมูล-ไม่เฝ้าระวัง” เตือนเกษตรกรรายย่อยเสี่ยงสุด เสนอเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังโรค ชาวบ้านรู้ข้อมูลเร็วแค่ไหน-ควบคุมได้มากเท่านั้น
วันที่ 2 ก.พ. 54 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนา “การรับมือกับโรคระบาดสัตว์และโรคสัตว์สู่คนที่เหนือการคาดหมาย” โดย สพ.ญ.วันทนีย์ กัลล์ประวิทย์ จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) กล่าวว่าโรคอุบัติใหม่ในคนที่เกิดขึ้นระยะหลังนี้สาเหตุร้อยละ 75 มาจากสัตว์ โดยบทเรียนสำคัญจากความเสียหายที่ผ่านมาคือมาตรการควบคุมโรคที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และขาดการเตรียมพร้อมด้านข้อมูลไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์หรือระบาดวิทยา จึงไม่สามารถรองรับสถานการณ์เฉพาะหน้าและป้องกันปัญหาในอนาคตได้
“ยกตัวอย่างไข้หวัดนก การเกิดโรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจสัมพันธ์กัน เพราะไทยส่งออกไก่เป็นอันดับต้นๆ มีความเสี่ยงทั้งเป็นผู้นำโรคและรับโรคกลับมา ซึ่งตรงนี้รู้อยู่แล้วล่วงหน้า ขั้นตอนควบคุมโรคจึงควรเริ่มตั้งแต่กระบวนการป้องกัน แต่มักทำเมื่อโรคเกิดขึ้นแล้ว”
สพ.ญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า ไทยมีความเสี่ยงต่อโรคระบาดสัตว์เพราะเป็นแหล่งปศุสัตว์ที่สำคัญและมีความหลากหลาย เช่น เกินร้อยละ 90 ของไก่ที่ส่งออก จำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 10 ที่ผลิตในอุตสาหกรรมที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ที่เหลือมาจากเกษตรกรรายย่อย ซึ่งกลุ่มหลังนี้เสี่ยงมากต่อการเป็นผู้รับและนำโรค ในขณะที่ประเทศไทยมีปัญหามากเรื่องการทำแผนรับมือในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เสนอว่าภาคราชการควรให้ข้อมูลความเสี่ยงนี้ไปยังและเกษตรกรผ่านระบบเครือข่ายอาสาสมัครในชุมชนที่มีอยู่แล้ว แทนที่จะลงไปดูเป็นรายโรค ก็ส่งเสริมให้ทำงานแบบเฝ้าระวังทางอาการเพิ่มด้วย
“ไทยโชคดีที่รัฐให้ความสำคัญเรื่องโรคระบาดเป็นวาระชาติ งบประมาณจึงไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่การทำให้ผู้ปฏิบัติทำตามแผนรับมือเป็นปัญหาหลัก นอกจากนี้ควรเสริมงานวิจัยในลักษณะเฝ้าระวังโดยเฉพาะในแหล่งโรค นำข้อมูลเหล่านี้มาทำลิสต์แมปปิ้ง ลำดับความสำคัญของโรคและผลกระทบอย่างรอบด้าน” ผู้แทนจากเอฟทีโอ กล่าว
น.สพ.พลายยงค์ สการะเศรณี กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรให้เกิดโรคระบาดอุบัติใหม่อย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ความสะดวกรวดเร็วของการคมนาคมที่ทำให้การขนส่งสัตว์จากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งง่ายขึ้น เชื้อโรคต่างๆเดินทางข้ามประเทศได้เร็วขึ้นและหาที่มาที่ไปยากขึ้น การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจทำให้เกษตรกรกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดต่อโรคระบาดสัตว์มากที่สุด
น.สพ.พลายยงค์ เสนอว่า การเตรียมพร้อมรับมือต้องทำทั้งด้านระบาดวิทยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ให้รู้ต้นตอการเกิดโรค ซึ่งขณะนี้ยังทำได้น้อยมาก ต่อมาคือการจัดการความรู้ เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นพาหะ แหล่งโรคเกิดจากที่ใด เข้าถึงคนได้อย่างไร มีวิธีรักษาหรือป้องกันอย่างไร ซึ่งมีความพยายามเสนอเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ
“ช่วงที่โรคไข้หวัดเอชวันเอ็นวันระบาด สิ่งที่โกลาหลที่สุดคือไม่มีใครรู้ว่าจากหมูมาสู่คนอย่างไร ทำไมติดต่อจากคนสู่คนได้ จนสื่อต้องมากระทุ้ง กว่าจะตอบสังคมได้ใช้เวลานานเกินไป”
น.สพ.พลายยงค์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางต่อมาคือการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ เพราะคนและสัตว์อยู่ด้วยกัน ไม่สามารถปล่อยให้สัตว์ตายแล้วให้คนอยู่ สุดท้ายคือห้องปฏิบัติการ ต้องเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ความรู้ของนักวิจัย เครื่องมือ บุคลากร ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จในการรับมือขึ้นอยู่กับความจริงจังของรัฐบาล ราชการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติการ ชุมชน ชาวบ้าน ที่จะร่วมมือกันตั้งแต่ขั้นตอนการป้องกันซึ่งสำคัญที่สุด
ด้าน น.สพ.ดร.วิมล จิระธนวัฒน์ ผอ.สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การควบคุมโรคระบาดจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลโรคเร็วแค่ไหน .