สธ.–สวรส.จับมือเครือข่ายร่วมประกาศสงครามเบาหวาน–ความดัน ตั้งเป้าลดหวานเค็ม 30%
เบาหวาน – ความดัน โรคร้าย “ไม่ตายก็เสี่ยงอัมพาต” สธ. – สวรส. และเครือข่ายร่วมประกาศสงครามเบาหวาน–ความดัน ตั้งเป้าลดหวานเค็ม 30%
“อัมพฤกษ์ อัมพาต” เป็นภัยเงียบที่ทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ โดยอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต จะเกิดที่กล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยที่ทำให้ระบบสั่งการของสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเกิดความผิดปกติ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” ซึ่งเป็นภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน สาเหตุจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน
ข้อมูลจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 ในประชากรไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป โดยสถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข (สวรส.) พบว่า ความชุกของเบาหวานในคนไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 และความชุกของโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 24.7 ในปี 2557 โดยข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าเบาหวานและความดันโลหิตสูง ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตเรื้อรังตามมาได้อีกด้วย โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์พบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีประมาณ 1 แสนคนเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการบำบัดรักษากว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี หากไม่มีการแก้ไขป้องกันคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็นกว่า 2 แสนราย หรือต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท
จากข้อมูลสถานการณ์โรคเบาหวานและความดันโลหิตของประเทศไทยนับว่ามีความน่าเป็นห่วง เพราะทั้งเบาหวานและความดันโลหิต เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตและโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา หากยังไม่มีมาตรการป้องกัน ควบคุม จะทำให้ประเทศต้องแบกรับกับจำนวนผู้ป่วยและค่าใช่จ่ายทางด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนของประเทศไทย ที่ควรถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องประกาศสงครามเบาหวานและความดันโลหิตสูงอย่างเร่งด่วน
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมประกาศสงครามกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เพื่อเร่งรัดให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับชาติที่เน้นการจัดการเบาหวานและความดันโลหิตสูง และสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานรัฐ ธุรกิจเอกชน ภาคท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย โดยกลยุทธ์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ในเบื้องต้น เช่น การประกาศสงครามกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงสู่สาธารณะ การเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับ ออกระเบียบส่งเสริมหรือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทำการประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคม ลดความเสี่ยงการเกิดโรค อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาช่วยในการติดสลากเตือนสินค้าที่มีรสหวานมันเค็ม กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ลดโซเดียมในสินค้าบริโภค การหนุนให้ อสม. ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลประชาชนในชุมชน ทั้งการคัดกรอง แนะนำการเช็คค่าน้ำตาล ค่าความดันโลหิต ตลอดจนแนวทางควบคุมไม่ให้ค่าน้ำตาลและความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นต้น
ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวต่อไปว่า บทบาทของ สวรส. คือการร่วมวางแผน ศึกษาวิจัยการดำเนินนโยบาย ตลอดจนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายประกาศสงครามเบาหวานและความดัน เพื่อนำมาพัฒนาประสิทธิภาพและตอบโจทย์ปัญหาระบบสาธารณสุขและสังคม ทั้งการติดตามประเมินผล เช่น การประกาศสงครามโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงไปแล้ว ภายใน 1 ปี ต้องประเมินได้ว่ากลุ่มป่วยลดลงได้จริงหรือไม่ หรือกลุ่มเสี่ยงก็ไม่ป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ซึ่งจะเป็นการติดตามจากตัวชี้วัดที่กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินการรณรงค์ให้ประชาชนรู้ตัวเลข รู้รักษ์สุขภาพ หรือ “Know your number Know your risk” คือ สามารถรู้ตัวเลขที่บ่งชี้สุขภาพและทราบระดับความเสี่ยงของตนเองเพื่อการควบคุมภาวะเสี่ยงเบาหวาน/ความดัน ได้แก่ น้ำหนัก ความดันโลหิต รอบเอว และระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งการติดตามตัวชี้วัดเรื่องการลดเค็ม ลดหวานลง 30% ภายใน 5 ปี
“นอกจากนี้ สวรส. จะพัฒนาหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านสุขภาพ หรือ Chief Health Officer เพื่อให้ผู้บริหารของหน่วยงานทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหา เพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการเบาหวานและความดัน ตัวอย่างเช่น เมื่อรู้ว่าบุคลากรในองค์กรเป็นกลุ่มเสี่ยง มีภาวะอ้วนลงพุง สูบบุหรี่ ก็จะต้องหามาตรการในการลดพุง ลดการบริโภคหวานมันเค็ม หรือมีเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตในองค์กร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าความดันตัวเองอยู่ในภาวะใดและจะมีวิธีในการจัดการตนเองอย่างไร เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการคัดกรองเบาหวาน/ความดัน การเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยเฉพาะการลดการบริโภคน้ำตาลและเกลือโซเดียม สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นคู่มือการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ สวรส. และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ “Together Fight NCDs ร่วมมือต่อสู้โรค NCDs” ตลอดเดือนพฤศจิกายน โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกิจกรรมวัดรอบเอว วัดความดันโลหิต วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ วัดมวลสารในร่างกาย และกิจกรรมการแสดงสัญลักษณ์ลดน้ำตาลและเกลือโซเดียมลง 30% โดยรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคอาหารเค็ม หวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าว