ชัด ๆ คำสั่งศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยอดีต 5 สนช.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ เหตุ กกต.ยื่นช้า?
“…ดังนั้นการถือครองหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นใน หจก.หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับคือตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าใด และมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ย่อมเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สนช. ด้วย ตามนัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 ประกอบมาตรา 101 (7) และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2)…”
“ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การยื่นคำร้องเรื่องความเป็นสมาชิกภาพของ สนช. ของผู้ถูกร้องจะต้องยังคงมีอยู่ เป็นไปตามแนวคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2553 และคำสั่งที่ 63/2555 ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 263 วรรคหนึ่งตอนท้าย บัญญัติให้ สนช. สิ้นสุดลงในวันก่อนเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยมี พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป และเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 จึงทำให้สมาชิกภาพของ สนช. ผู้ถูกร้องสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2562 ซึ่งสิ้นสุดลงก่อนที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562”
“ดังนั้นย่อมไม่มีวัตถุแห่งคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย กรณีจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 101 (7) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาได้ อาศัยหลักเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”
คือหลักใหญ่ใจความสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งไม่รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้วินิจฉัย กรณีอดีต สนช. 5 ราย ได้แก่ ได้แก่ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) ถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัมปทานกับภาครัฐ (อ่านประกอบ : กกต.ชงหลังพ้นตำแหน่ง! ศาล รธน.ไม่รับคำร้องวินิจฉัย 5 อดีต สนช.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ)
ไทม์ไลน์ของเรื่องนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 กกต. มีคำวินิจฉัยที่ 70/2562 และส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังประชุมร่วมรัฐสภานัดแรก (24 พ.ค. 2562) ไปแล้ว
โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้สมาชิก สนช. พ้นจากตำแหน่ง ภายหลังการเปิดประชุมร่วมรัฐสภานัดแรก จึงทำให้สมาชิกภาพ สนช. ทั้ง 5 ราย สิ้นสุดลงไปก่อนหน้าที่ กกต. จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบเสียอีก ?
นอกเหนือจากเงื่อนปมที่ว่าไฉน กกต. ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบยาวนานถึง 2 ปี และยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังสมาชิกภาพ สนช. ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 รายสิ้นสุดลงไปแล้วนั้น
อีกเงื่อนปมคือ ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ราย ถือหุ้นสัมปทานรัฐจริงหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำร้องของ กกต. และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ มาเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
1.พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข โดยนางวรรัตน์ เฉลิมสุข คู่สมรส ได้ถือครองหุ้นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560-25 ก.ค. 2560 รวมจำนวน 66,000 หุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 จำนวน 35,000 หุ้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2560 จำนวน 6,700 หุ้น และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 จำนวน 290,000 หุ้น
2.พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ถือครองหุ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560-13 ก.ย. 2560 รวมจำนวน 13,000 หุ้น
3.พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน ถือครองหุ้นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560-12 พ.ค. 2560 รวมจำนวน 17,600 หุ้นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 จำนวน 30,000 หุ้น และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 จำนวน 12,000 หุ้น
4.นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ถือครองหุ้นบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560-29 มิ.ย. 2560 รวม 28,000 หุ้น บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 จำนวน 23,000 หุ้น และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560-9 ส.ค. 2560 รวมจำนวน 6,800 หุ้น
5.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ โดยนางอรุณี เดชวิทักษ์ คู่สมรส ถือครองหุ้นในบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560-4 ต.ค. 2560 รวมจำนวน 1.2 แสนหุ้น บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560-4 ต.ค. 2560 รวมจำนวน 316,000 หุ้น บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560-24 พ.ย. 2560 รวมจำนวน 621,300 หุ้น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2560-14 ก.ย. 2560 รวมจำนวน 200,000 หุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560-31 ส.ค. 2560 รวมจำนวน 266,100 หุ้น และบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560-24 พ.ย. 2560 รวมจำนวน 90,000 หุ้น
โดยบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ราย หรือคู่สมรสถือหุ้นอยู่ ณ ขณะนั้น ประกอบธุรกิจดังนี้
1.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจสายการบิน กิจการสนามบิน โดยมีหุ้นเพียงพอที่สามารถบริหารจัดการหรือครอบงำกิจการในบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด ที่มีสัญญากับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสัญญามีผลบังคับใช้ 20 ปี
2.บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้รับประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบกิจการเหมือง ชนิดแร่ถ่านหิน ที่ จ.ลำพูน มีอายุ 10 ปี
3.บริษัท ปตท.สผ. ได้รับสัมปทานจากกระทรวงพลังงาน ให้ดำเนินการประกอบกิจการปิโตรเลียม
4.บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการประกอบกิจการเหมืองแร่
5.บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม โดยการถือหุ้นหรือเข้าไปบริหารบริษัทในเครือ เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตจาก กสทช. ให้ประกอบกิจการโ?รคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ นอกจากนี้ยังถือหุ้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญาในการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
6.บริษัท BEM ได้รับสัมปทานจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2 สัญญา ได้แก่ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้าง บริหารจัดการ ให้บริการ และบำรุงรักษาโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กทม. และเป็นผู้รับสัมปทานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 2 สัญญา คือสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน
7.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินกิจการประปาสัมปทานในกลุ่มเขตโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
8.บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัท เกลือพิมาย จำกัด จำนวน 282,252 หุ้น และมีผู้บริหารของบริษัท วีนิไทยฯ 3 ราย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัท เกลือพิมาย จำกัด โดยบริษัทแห่งนี้ได้รับประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ดำเนินกิจการเหมืองบนบกชนิดแร่เกลือหินที่ จ.นครราชสีมา
9.บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ดูแลรับฝากและขนย้ายสินค้าอันตรายที่ทำการขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบัง
10.บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด จำนวน 2,999,993 หุ้น อันเป็นจำนวนมากพอที่จะครอบงำกิจการบริษัทดังกล่าวได้ โดยบริษัทนี้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จาก กสทช.
11.บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 69.96 ซึ่งบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ ถือหุ้นในบริษัท พันธ์ศรีวิวัฒน์ จำกัด ร้อยละ 99.98 และบริษัท พันธ์ศรีวิวัฒน์ฯ ถือหุ้นในบริษัท พันธ์ศรี จำกัด ร้อยละ 99.99% บริษัท ล่ำสูงฯ จึงมีอำนาจครอบงำกิจการของบริษัท พันธ์ศรี จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ คือผลปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านหมาก และป่าปากพัง จ.สุราษฎร์ธานี
โดย กกต. เห็นว่า การรับสัมปทานรัฐ หมายถึง การที่รัฐให้สิทธิเอกชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือจากสิทธิประโยชน์อันเป็นสาธารณะ สัมปทานจึงรวมถึงประทานบัตรที่รัฐออกให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือไม่ก็ตาม
สำหรับการถือหุ้นในบริษัทที่แม้จะมิได้ประกอบกิจการอันเป็นของต้องห้ามโดยตรง แต่หากบริษัทนั้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันเป็นการต้องห้ามในจำนวนมากพอที่จะทำให้มีอำนาจครอบงำกิจการของบริษัทที่ประกอบกิจการอันเป็นการต้องห้ามได้ ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยทางอ้อมด้วยแล้ว
รัฐธรรมนูญปี 2560 ห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่า จะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวแม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการหรือเป็นการลงทุนระยะสั้น หรือเพื่อเก็งกำไร ก็ย่อมเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ สนช. สิ้นสุดลง เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-14/2553 เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2553
ดังนั้นการถือครองหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นใน หจก.หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับคือตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าใด และมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ย่อมเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สนช. ด้วย ตามนัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 ประกอบมาตรา 101 (7) และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2)
กกต. จึงมีคำวินิจฉัยที่ 70/2562 ลงวันที่ 13 พ.ค. 2562 มีคำสั่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นสมาชิกภาพ สนช. ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่
อย่างไรก็ดีท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชัดว่า การยื่นคำร้องเพื่อวินิจฉัยสถานภาพของ สนช. นั้น ขณะยื่นคำร้องสมาชิกภาพต้องมีอยู่ตามแนวคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2553 และ 63/2555 ดังนั้นการที่ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 ขณะยื่นคำร้องนี้ ความเป็นสมาชิก สนช. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงไปก่อนแล้ว ย่อมไม่มีวัตถุแห่งคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย กรณีจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 101 (7) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
นี่คือบทสรุปของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต. ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยสถานภาพของ อดีต สนช. 5 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่า ถือหุ้นสัมปทานรัฐ แต่พ้นตำแหน่งไปก่อนที่จะถูกศาลวินิจฉัย
ส่วนสาเหตุอะไรทำให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญล่าช้า? คงต้องรอฟังคำชี้แจงกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/