“HITAP” หนุนขยายสิทธิคัดกรองดาวน์ซินโดรมแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย
เด็กดาวน์ซินโดรม 80% เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 35 ปี “HITAP” หนุน ขยายสิทธิคัดกรองดาวน์ซินโดรมแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย แนะเจาะเลือดแม่ทุกราย หากพบความผิดปกติค่อยเจาะถุงน้ำคร่ำยืนยันผล ชี้ทำได้จริงทั่วประเทศ-ต้นทุนไม่สูง
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และผู้ก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวสนับสนุนแนวคิดการเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซิมโดรมแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ สปสช. ว่า นับเป็นเรื่องที่ดีหากการขยายสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซิมโดรมให้แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย นั่นเพราะถึงแม้ว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปจะมีภาวะเสี่ยงสูง แต่กลับพบว่า 80% ของเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม เกิดจากแม่ที่อายุไม่ถึง 35 ปี
นพ.ยศ กล่าวว่า มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าหากต้องการลดปัญหาดาวน์ซิมโดรมให้ได้ผลจริง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจคัดกรองให้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย โดยวิธีที่เป็นไปได้ก็คือตรวจคัดกรองด้วยวิธีการเจาะเลือดเป็นลำดับแรก หากพบความเสี่ยงก็ให้ไปเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อยืนยันอีกครั้ง
นพ.ยศ กล่าวต่อไปว่า หากต้องการทราบว่าเด็กในครรภ์เป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่ ในอดีตจะใช้วิธีการเจาะถุงน้ำคร่ำซึ่งจะช่วยยืนยันได้อย่างแม่นยำ-รอบคอบ แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงคืออาจทำให้เกิดการแท้งได้ ฉะนั้นการเจาะมากๆ ก็เท่ากับจะไปทำร้ายเด็กที่เป็นปกติไปด้วย นั่นทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการตรวจแบบใหม่ซึ่งก็คือการเจาะเลือด และหากพบว่ามีความเสี่ยงก็ค่อยไปเจาะน้ำคร่ำยืนยันอีกครั้ง
“อย่างที่ผมบอกไปว่าเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมส่วนใหญ่เกิดจากหญิงอายุน้อยกว่า 35 ปี ฉะนั้นถ้าเราจะไปเจาะน้ำคร่ำกันหมดทุกคน แน่นอนว่า 1. อาจทำให้เด็กปกติแท้งมากขึ้นกว่าเดิม 2. จำเป็นต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำได้เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น
“ดังนั้นวิธีการที่ควรจะทำมีอยู่2 แนวทาง 1. เจาะเลือดหญิงตั้งครรภ์ก่อนทุกราย ถ้าผิดปกติค่อยไปเจาะน้ำคร่ำ วิธีการนี้ใช้งบประมาณน้อยสุด เป็นไปได้ในประเทศไทย คัดกรองได้มาก แต่ก็ยังไม่มากที่สุด 2. เจาะเลือดเฉพาะในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ก็ให้ไปเจาะน้ำคร่ำเลย ตรงนี้จะคัดกรองได้มากที่สุด แต่คงทำไม่ไหว เนื่องจากใช้เงินมาก” นพ.ยศ กล่าว
นพ.ยศ กล่าวอีกว่า ภาวะดาวน์ซินโดรมมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้-ทำงานได้ ไปจนถึงระดับรุนแรงคือเกิดมาได้ 4-5 ปี ก็เสียชีวิต ซึ่งเวลาตรวจคัดกรองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กในครรภ์จะเป็นดาวน์ซินโดรมในระดับใด เพราะฉะนั้นจึงมีเสียงสะท้อนจากแพทย์มาบ้างว่า ในกรณีนี้อาจมีแพทย์ที่ไม่อยากทำแท้งให้
“ประเทศไทยมีกฎหมายว่าสามารถทำแท้งได้หากการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อชีวิตแม่ แต่กฎหมายไม่ได้ให้สามารถทำแท้งเพื่อป้องกันเด็กผิดปกติได้ เราไม่มีกฎหมายนี้ แต่ในความจริงก็มีการทำกันในหลายประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ทางการแพทย์” นพ.ยศ กล่าว
นพ.ยศ กล่าวย้ำว่า แนวทางการเจาะเลือดแล้วค่อยเจาะน้ำคร่ำยืนยันผลนั้น สามารถดำเนินการได้ในทุกโรงพยาบาล แพทย์-พยาบาลทำได้ทุกราย ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก สามารถทำได้จริงและครอบคลุมในระดับประเทศ ที่สำคัญคือจะช่วยคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมได้มาก
“นโยบายเดิมคือเราตรวจคัดกรองในหญิงอายุมากกว่า 35 ปี ด้วยวิธีการเจาะเลือด แต่ที่จริงคนอายุมากกว่า 35 ปี มีความเสี่ยงมาก เราก็ควรตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูงกว่าการเจาะเลือด ยกตัวอย่างเช่น หากหญิงอายุมากกว่า 35 ปี ไปเจาะเลือดแล้วพบว่าเด็กในครรภ์ปกติ แต่ปรากฏว่าเมื่อคลอดออกมากลับเป็นภาวะดาวน์ซินโดรม แล้วเขามารู้ทีหลังว่ายังมีเครื่องมือที่แม่นยำ ที่ต่างประเทศแนะนำ และสอดคล้องกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คำถามก็คือแล้วทำไมเราไม่ทำ แล้วถ้าหญิงคนนั้นฟ้องร้องจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นเรากำลังจะทำให้นโยบายที่กลับหัวกลับหางอยู่ กลับมาถูกต้อง” ดร.นพ.ยศ กล่าว
อนึ่ง ปัจจุบัน สปสช.ให้สิทธิคัดกรองดาวน์ซินโดรมหญิงตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี ด้วยวิธีเจาะเลือด โดยให้บริการทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขยายสิทธิให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย