เปิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ทบ.ใช้ช่องทางไหน? จัดซื้อ ฮ.กู้ภัย ผ่าน บ.ตัวแทนรัสเซีย
พลิก พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 60 กำหนดไว้อย่างไร? ก่อน ทบ.จัดซื้อ เฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 3) โดยวิธีเฉพาะเจาะจงจาก บ.ดาต้าเกท 850 ล. จ้างฝึกนักบินช่าง 85 ล.
ประเด็นตรวจสอบ กรณี กองทัพบกโดยกรมการขนส่งทหารบก ได้ออกประกาศให้ บริษัท ดาต้าเกท จำกัด เป็นผู้ได้รับคัดเลือกในการเสนอราคา จัดหาเฮลิคอปเตอร์รองรับการปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 3) โดยวิธีเฉพาะเจาะจงในวงเงิน 850 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2562 และ จ้างฝึกนักบินและช่างอากาศยาน ตามโครงการ จัดหาเฮลิคอปเตอร์รองรับการปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 2) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จากบริษัท ดาต้าเกท จำกัด ในราคา 84,999,997.50 บาท (อ่านประกอบ: ทบ.ฉลุย! จัดซื้อ ฮ.กู้ภัย 1 ลำ 850 ล.วิธี ‘เจาะจง’บ.ดาต้าเกท - จ้างฝึกนักบินอีก 84.9 ล.)
ขณะที่ มีรายงานข่าวจากกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ชี้แจงว่า สาเหตุที่การจัดซื้อจัดจ้างในระยะที่ 3 ใช้วิธีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงแทนจีทูจี เพราะทางรัสเซีย ได้ทำหนังสือแต่งตั้ง บริษัทดาต้าเกทฯ เป็นตัวแทนในประเทศไทยเป็นทางการ แตกต่างจากการจัดซื้อจัดจ้างครั้งที่ผ่านมา รัสเซีย ไม่ได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ขส.ทบ. เลยต้องบินไปซื้อจากประเทศรัสเซียโดยตรงครั้งนั้นจึงต้องใช้วิธีจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ
“การที่จะซื้อเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อนี้ แล้วเป็นผลิตภัณฑ์นี้ แล้วมีตัวแทนคนเดียวในประเทศไทย ก็ต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งตามระเบียบเป็นแบบนี้เลย ถ้าหากมีตัวแทนกัน 2 ราย เราก็จะใช้วิธีคัดเลือก ซึ่งการแต่งตั้งตัวแทนนั้นเป็นเรื่องปกติมาก ถ้าหากประเทศนั้นจะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเป็นบริษัทในประเทศอื่นๆ แต่ถ้าหากเขาไม่แต่งตั้งเราก็ซื้อตรงจากต่างประเทศ” นายทหารกรมการขนส่งทหารบกระบุ (อ่านข่าวประกอบ: 'รัสเซีย' ให้ซื้อของผ่านตัวแทน! ขส.ทบ.แจงเหตุ ฮ.Mi 17V-5 ระยะ3 ใช้วิธีเจาะจงแทนจีทูจี)
พลิก พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาดูกันหน่อยว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หน่วยงานของรัฐทำได้ในกรณีใดได้บ้าง?
หมวด 6 การจัดซื้อจัดจ้าง ระบุว่า
มาตรา 54 บทบัญญัติในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ยกเว้นงานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง
มาตรา 55 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทำได้โดยวิธี ดังต่อไปนี้
(3) วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคารวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 96 วรรคสอง
มาตรา 56 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน
เว้นแต่
(2) กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง
(ก) ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มี ผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
(ข) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียวหรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบ ด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
(ง) มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติหรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(จ) พัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุนั้นโดยมูลค่าของพัสดุที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว
(ฉ) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศหรือหน่วยงานของต่างประเทศ
(ช) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง
(ซ) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
รัฐมนตรีอาจออกกฎกระทรวงตาม (1) (ซ) หรือ (2) (ซ) ให้เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม
หรือสนับสนุนตามมาตรา 65 (4) ก็ได้ หากรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงตาม (๒) (ซ) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามมาตรา 65 (4) แล้ว เมื่อหน่วยงานของรัฐจะทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้นให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงตาม (2) (ซ) ก่อน
ในกรณีหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศหรือมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในต่างประเทศจะทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีคัดเลือกหรือวิธีเฉพาะเจาะจง โดยไม่ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อนก็ได้
รัฐมนตรีอาจออกระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดอื่นของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุตามวรรคหนึ่ง
เพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ (ดูเอกสาร)
จากข้อมูลเห็นได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 8 ข้อ กรณีจัดหาเฮลิคอปเตอร์รองรับการปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัย (ระยะที่ 3) โดยวิธีเฉพาะเจาะจงในวงเงิน 850 ล้านบาทนั้น ที่ ขส.ทบ. อ้างนั้นน่าจะอยู่ในเงื่อนไข มาตรา 56 (ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียวหรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
หรือไม่?
กระนั้นไมว่าจะใช้ ‘ช่อง’ อย่างไร? แต่สิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตคือ เท่ากับโครงการนี้ไม่ได้จัดซื้อแบบจีทูจีโดยตรง แต่เป็นการจัดซื้อผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้า? ไม่มีข้อมูลว่ามีการแต่งตั้งเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการหรือไม่?
อ่านเรื่องประกอบ:
'รัสเซีย' ให้ซื้อของผ่านตัวแทน! ขส.ทบ.แจงเหตุ ฮ.Mi 17V-5 ระยะ3 ใช้วิธีเจาะจงแทนจีทูจี
พลิกข้อมูล ทบ. จัดซื้อ ฮ.Mi 17V-5 จีทูจี จากรัสเซีย ไฉน!ระยะที่ 3 ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง
เบื้องหลังสืบราคากลาง บ.ดาต้าเกท! ก่อน ทบ.จ้าง ฝึกนักบิน-ช่าง ฮ.กู้ภัย 84.9 ล.
ทบ.ฉลุย! จัดซื้อ ฮ.กู้ภัย 1 ลำ 850 ล.วิธี ‘เจาะจง’บ.ดาต้าเกท - จ้างฝึกนักบินอีก 84.9 ล.
ฮ.Mi 17V-5 รัสเซีย 1.5 พันล.! สืบราคากลางจากสถานทูต-ประกาศไม่ได้ระบุจีทูจี
ฉลุย!ทบ.จัดซื้อ ฮ.Mi 17V-5 รัสเซีย 2 ลำ 1.5 พันล. ก่อนปิดงบฯ 1 วัน-บินเซ็นสัญญาแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/