โจมตีแล้วหนีไปไหน...โจทย์ใหญ่ไฟใต้ที่ไม่จินตนาการ
เหตุฆ่าหมู่ 15 ศพคาป้อม ชรบ.ใน ต.ลำพะยา จ.ยะลา ทำให้ข่าวสารจากชายแดนใต้ฟุ้งตลบ
ข้อมูลหลายอย่างปรากฏออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่คำถามที่ต้องคิดย้อนกลับไปก็คือ ข้อมูลเหล่านี้มีน้ำหนักความจริงแค่ไหน?
1. ข่าวผู้ก่อเหตุเป็น "นักรบรุ่นใหม่" ที่เพิ่งผ่านการฝึก และอิมพอร์ตมาจากอินโดฯ ข่าวนี้ "กูรู" การันตีว่าไม่จริง เพราะหลักฐาน วัตถุพยาน รอยเลือด และดีเอ็นเอที่พบในบริเวณที่เกิดเหตุ ชี้ไปยัง "นักรบหน้าเดิม" ที่เคยก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่มาแล้วหลายครั้ง
เช่นเดียวกับอาวุธปืนที่ใช้โจมตี ตรวจพิสูจน์แล้วก็เป็นปืนชุดเดียวกับที่เคยก่อเหตุในหลายพื้นที่ หลายคดีก่อนหน้า (กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ระบบ "ปืนเวียน")
2. ข่าวบีอาร์เอ็นขยายข่ายงานด้วยการเพิ่มกำลังอีกกว่า 10,000 คน ข่าวนี้ก็ได้รับการยืนยันจากนายทหารในกองทัพภาคที่ 4 ว่าเกินจริงไปมากเช่นกัน
สอดรับกับความเห็นของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะนายทหารที่ศึกษาโครงสร้างบีอาร์เอ็นทะลุปรุโปร่งมากที่สุดคนหนึ่ง ที่ขยายความว่า บีอาร์เอ็นดูจะอ่อนกำลังลงด้วยซ้ำ เพราะข้อมูลล่าสุดที่ได้รับมาจากคนในขบวนการก็คือ กองกำลังอาร์เคเคปัจจุบันราวๆ ครึ่งหนึ่งขาดการติดต่อ มีเพียง 30% เท่านั้นที่พร้อมทำงาน ส่วนอีก 20% ไม่พร้อมปฏิบัติการ เพราะบางคนเพิ่งแต่งงาน หรือมีลูกอ่อน แต่ยังพร้อมให้การสนับสนุนรูปแบบอื่น
3. ข่าวบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค ยอมรับว่าเป็นผู้ลงมือโจมตีป้อม ชรบ.ที่ลำพะยา งานนี้คนในพื้นที่บอกว่า เพจบีอาร์เอ็นที่เผยแพร่แถลงการณ์เป็น "เพจไอโอ" แต่ไม่รู้ฝ่ายไหนไอโอ
ขณะที่ พล.อ.สำเร็จ หัวเราะในลำคอ และบอกว่า "ก็ฟังๆ ไป แต่อย่าไปเชื่อ" เหตุผลก็คือ บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรลับ มีลักษณะอนุรักษ์นิยม และมีนโยบายชัดเจนไม่สื่อสารผ่านสื่อทางการ และไม่พูดคุยกับรัฐบาลไทย ฉะนั้นการสื่อสารต่อสาธารณะแต่ละครั้งจึงสรุปยากว่าเป็นของจริงหรือไม่จริง ถ้าจริงก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยว่าเป็นท่าทีในนาม "องค์กร" หรือ "เฉพาะกลุ่ม"
ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์โจมตีป้อม ชรบ.ที่ลำพะยา บทสรุปอย่างเป็นทางการของตำรวจภูธรภาค 9 ในฐานะเจ้าของคดี คือคนร้ายที่ปฏิบัติการ ประกอบกำลังจาก 2 กลุ่ม คือ "ทีมปัตตานี" นำโดย "3 พี่น้องตระกูลหลำโสะ" เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และรอยต่อ 4 อำเภอของสงขลา จับมือกับ "ทีมยะลา" นำโดย นายฮูไบดีละห์ รอมือลี คุมพื้นที่ อ.ยะหา กาบัง และบันนังสตา โดยมี "กลุ่มหน้าขาว" หรือที่เรียกว่า "เปอร์มูดอ" (เยาวชนที่ผ่านการอบรม) และยังไม่มีประวัติในคดีความมั่นคง เป็นทีมอำนวยความสะดวก
กล่าวเฉพาะ "กลุ่มหน้าขาว" ข้อมูลจริงก็คือยังมีการลักลอบอบรม "เปอร์มูดอ" จนกลายเป็น "แนวร่วมหน้าขาว" อยู่ในบางพื้นที่ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การฝึกเป็นอาร์เคเค ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีการฝึกชุดใหม่ราวๆ 60 คน หรือ 10 ชุด (อาร์เคเค มีชุดละ 6 คน) เพื่อทดแทนชุดที่สูญเสียจากการปะทะหรือถูกจับ
ย้อนเกล็ดไฟใต้ในระยะ 2-3 ปีหลัง "ทีมยะลา" เงียบไปเยอะ เช่นเดียวกับ "ทีมนราธิวาส" ที่เคลื่อนไหวไม่บ่อยครั้ง แต่กลุ่มที่ปฏิบัติการถี่กว่า และร้ายแรงยิ่งกว่า รวมถึงใช้ไอเดียใหม่ๆ ในการโจมตีคือ "ทีมปัตตานี"
คดีดังๆ ที่เชื่อมโยงทีมปัตตานี ก็เช่น คาร์บอมบ์หน้าห้าง "บิ๊กซี ปัตตานี" เมื่อ 9 พ.ค.60 คดีปล้นรถกระบะ 6 คันจากเต็นท์รถ "วังโต้ คาร์เซ็นเตอร์" ใน อ.นาทวี จ.สงขลา นำไปทำคาร์บอมบ์ เมื่อ 17 ส.ค.ปีเดียวกัน
ส่วนในปี 62 ก่อเหตุถี่ยิบยิ่งกว่า เช่น คดีโจมตีจุดตรวจ ชคต.บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เมื่อ 23 ก.ค. (หลังเกิดกรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกจับและหมดสติในค่ายทหารเพียง 3 วัน) คดีปล้นร้านทองใน อ.นาทวี เมื่อ 24 ส.ค. คดีซุ่มยิง อส.ชุดคุ้มครองตำบลนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ 16 ก.ย. และล่าสุดก็คือเหตุโจมตีป้อม ชรบ.ที่ลำพะยา เมื่อ 5 พ.ย.
คำถามคือ คนกลุ่มเดิมๆ นี้ หลบหนีเจ้าหน้าที่หลังก่อเหตุรุนแรงสะเทือนประเทศไปได้อย่างไร
พล.อ.สำเร็จ อธิบายว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีพื้นที่หลบภัยบนภูเขา ยกตัวอย่าง "เขานางจันทร์" ใกล้กับจุดเกิดเหตุที่ลำพะยา เป็นรอยต่อของ อ.เมือง อ.ยะหา จ.ยะลา กับ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นพื้นที่ข่ายงานของบีอาร์เอ็นและพูโลเก่า แต่เทือกเขาแถบนี้เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยขึ้นไปปฏิบัติการเหมือนกับแถบนราธิวาส เช่น เขาตะเว เขาเมาะแต ทำให้คนร้ายอาจใช้เป็นแหล่งกบดาน โดยมีแนวร่วมคอยส่งเสบียงอาหาร
ขณะที่ข้อมูลจากนายทหารระดับสูงที่เกาะติดพื้นที่ บอกว่า คนเหล่านี้มีหมู่บ้านที่เรียกว่า "ซัพพอร์ต ไซต์" (support site)ใช้สำหรับหลบซ่อนกบดานเป็นการเฉพาะ เช่น ใน อ.นาทวี และ สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้มีแนวร่วมอาศัยอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ยังเข้าไม่ถึง 100%
สอดรับกับ "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่เปิดเผยเองเลยว่า ผู้ก่อความไม่สงบตัวหลักๆ หลบซ่อนอยู่ตามบ้านซึ่งดัดแปลงเป็น "ที่หลบภัย" ไปพร้อมกัน เช่น มีห้องลับในบ้าน มีชั้นใต้ดิน มีที่หลบใต้ซิงค์ล้างจาน
ข้อมูลของแม่ทัพภาคที่ 4 ดูเหมือนหวือหวาเกินจริง แต่ พล.อ.สำเร็จ ซึ่งเคยคลุกคลีอยู่กับอาร์เคเคที่ถูกจับกุม ให้ข้อมูลยืนยันว่า บ้านของครอบครัวที่ร่วมปฏิวัติปัตตานี หรือครอบครัวที่อยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน จะมีการเตรียมสถานที่หลบภัยไว้อยู่แล้ว
เหลียวไปฟังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการกันบ้าง พวกเขาเชื่อว่าแกนนำสำคัญหลายคน รวมถึง "นักรบอาร์เคเค" ที่มีชื่อปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ยังคงซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ และใช้ชีวิตอย่างปกติอยู่ใน "เขตปลอดภัย" ของตนเอง สาเหตุหนึ่งที่ทำแบบนั้นได้เพราะมี "แนวร่วม" คอยดูแล คุ้มกัน แจ้งข่าว แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติเองมีน้อยคนนักที่จะจำหน้าแกนนำเหล่านี้ได้ เพราะหน้าตาตามหมายจับ ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายเก่าหลายปีแล้ว บางภาพอาจจะนานถึงสิบปี
เมื่อหน้าตาเปลี่ยน การติดต่อกับทางการก็ห่างหายไปนาน (เพราะถูกออกหมายจับ) ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไม่มีข้อมูลอัพเดท ว่ากันว่ามีชาวบ้านเคยแจ้งข่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า แกนนำผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับอำเภอบางคนขับฟอร์จูนเนอร์โฉบไปโฉบมาโดยเจ้าหน้าที่ไม่เอะใจสงสัยเลยด้วยซ้ำ...
ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในยุค "บิ๊กเดฟ" คัดกรองหมู่บ้านต้องสงสัยที่เป็นแหล่งเคลื่อนไหวกบดานของผู้ก่อความไม่สงบได้ 118 หมู่บ้าน มีการจัด "ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์" เข้าไปปฏิบัติการ แต่ยังไม่ทันจะเห็นหน้าเห็นหลัง ก็มาเกิดเหตุที่ลำพะยาเสียก่อน โดยหมู่บ้านที่ตกเป็นเป้าหมายอยู่นอกบัญชี 118 หมู่บ้าน!
นี่คือโจทย์ใหญ่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องสกัดจับ "กลุ่มหน้าเดิม-แกนนำตัวเอ้" ทั้งหลายให้ได้ โดยใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่
เช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมที่ป้อม ชรบ. ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำความจริงมาพูดกันว่าช่องโหว่ช่องว่างที่นำไปสู่การถูกโจมตี เกิดจากอะไรกันแน่ ทำไมป้อมจุดตรวจแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรวมตัวของ ชรบ.และชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงตำรวจจากต่างอำเภอ เป็นไปได้หรือไม่ที่มีการนัดประชุมกันทุกวันอังคารจนเป็นกิจวัตร เมื่อคนหมู่มากมาเจอกันก็มีการสังสรรค์ ทำกับข้าวกินกัน และมีกิจกรรมสันทนาการ จนกลายเป็นช่องโหว่ให้คนร้ายที่เฝ้าจับตาอยู่แล้ว...ทิ้งไพ่ลงมือปฏิบัติการ
ขณะที่ข้อมูลอีกด้านระบุว่า ต.ลำพะยา ยังไม่มีชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) มีแต่ ชรบ.และ อรบ. กระจายกันดูแลหมู่บ้านของตนเอง และไม่ได้ขึ้นกับหน่วยทหารโดยตรง ทำให้ไม่รู้ยุทธวิธีของอาร์เคเค เช่นเดียวกับลักษณะของป้อมจุดตรวจที่ทหารผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีหลายคนเห็นภาพแล้วบอกว่า มีสภาพเหมือนเล้าไก่ ก่ออิฐล้อม ฉาบปูน มีทางเข้า-ออก และมีช่องยิงปืนแต่ยิงไม่ได้จริง ไม่มีบังเกอร์หรือที่หลบกระสุนเพื่อยิงตอบโต้ สะท้อนว่าไม่มีหน่วยทหารเข้าไปแนะนำการตั้งฐาน และสุดท้ายก็ถูกอาร์เคเคไม่ต่ำกว่า 3 ชุดประกอบกำลังเข้าปฏิบัติการ
ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่ควรปิดบังหรือเกรงใจกัน เพราะนี่คือเดิมพันด้วยชีวิตคน!
------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
คนร้ายบุกโจมตีจุดตรวจ ชรบ.ในยะลา ดับ 14 ศพ-ชิงปืน!
เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุโจมตี ชรบ.ในยะลา
เมื่อกองกำลังประชาชนตกเป็นเป้า! ประเมิน 4 ปัจจัยไฟใต้ปะทุอีกระลอก
นายกฯประณามเหตุโจมตีป้อม ชรบ. ยอดตายพุ่ง 15 - หญิง 4 ศพ
แม่ทัพ 4 สั่งปรับแผนห้ามเฝ้าป้อม-นอนฐาน - ปากคำชาวบ้านคนร้ายมีสาหัส
ผบ.ตร.บินด่วนลงใต้ พบคนร้ายใช้เอ็ม 79 ถล่มป้อม ชรบ.
"ปณิธาน" เตือนภัย "ผู้นำรุ่นใหม่" แสดงศักยภาพโหมไฟใต้ส่งท้ายปี
เสียงจากลำพะยา...โจมตีป้อม ชรบ.ตาย 15 เกิดขึ้นได้ไง
สรุปโจมตีป้อม ชรบ.ลำพะยา "ทีมปัตตานี-ยะลา" จับมือ "หน้าขาว-ฝึกใหม่"
ตะกอนไฟใต้...เงื่อนไขที่ยังไม่ถูกแก้
ตำรวจขอหมายจับชุดแรก 2 ผู้ต้องหาร่วมโจมตีป้อมชรบ.ลำพะยา