คณะบัญชีฯ จุฬาฯ จับมือพันธมิตรองค์กรชั้นนำโลก ตอกย้ำความเป็น World Class Business School
คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ประกาศพร้อมก้าวขึ้นเป็นสถาบันชั้นนำนานาชาติทางด้านบริหารธุรกิจ โดยจับมือกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่าง WEF และ OXFAM ด้วยการทำงานวิจัยเพื่อชี้นำโลกด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและสังคม หลังพลิกโฉมโครงสร้างภายในให้มีความเป็นเวิลด์คลาสบิสซิเนสสคูลแบบ 100% โดยเชื่อมั่นนับจากนี้ไปไม่ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นิสิตจุฬาฯ ไม่เพียงแค่สามารถอยู่รอด แต่ยังเป็นหัวหอกสำคัญในการนำพาธุรกิจและประเทศก้าวพ้นวิกฤติและเติบโตอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ทุกๆ องค์กรต้องพยายามผลักดันให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสในการอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทโดยตรงในการชี้นำสังคม โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และเร่งดำเนินการในหลายเรื่อง จนเกิดความพร้อมในการก้าวขึ้นเป็นสถาบันทางด้านบริหารธุรกิจอันดับหนึ่งของไทย Chief Business School เพื่อนำไทยสู่สากลโลก
หนึ่งในความภาคภูมิใจของคณะฯ คือการได้เป็นพันธมิตรกับองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่าง World Economic Forum หรือ WEF ในการดำเนินงานวิจัยเพื่อหาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และนำผลวิจัยนั้นไปขยายผลต่อในหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญคือ OXFAM ที่เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่เน้นการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจารย์ของคณะฯ ได้มีส่วนร่วมเขียนบทความวิชาการ ว่าด้วยนโยบายสาธารณะในภูมิภาคเอเซียเพื่อขจัดความยากจน และทางคณะฯ ได้ร่วมมือในการจัดประชุมวิชาการระหว่างประเทศกับ OXFAM ในหัวข้อลดความเลื่อมล้ำของสังคม เพื่อกระตุ้นสังคมให้เกิดความตระหนักรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขจัดปัญหานี้
“เพราะพันธกิจของคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ไม่ใช่แค่สร้างนักธุรกิจที่เป็นคนเก่งคนดีของสังคมไทยเท่านั้น แต่เราต้องมองไกลไปถึงระดับโลก เพราะโลกทุกวันนี้ไม่มีใครอยู่ได้โดยไม่สนใจใครอีกต่อไปแล้ว การเป็นพันธมิตรกับองค์กรระดับโลก ก็เพื่อสร้างบรรยากาศของความเป็นนานาชาติ และผลักดันให้เราได้มีประสบการณ์ระดับโลก ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้ประสบการณ์ที่มีเฉพาะในประเทศไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ก่อนเด็กจบใหม่อาจยังมีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงาน แล้วค่อยๆ เพิ่มทักษะให้กับตัวเอง แต่ปัจจุบันยิ่งนิสิตมีทักษะที่เปิดกว้าง ก็จะเป็นการเปิดกว้างทางโอกาสในการเอาตัวรอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤติอยู่ในขณะนี้”
ทั้งนี้ที่ผ่านมา คณะฯ ได้ดำเนินงานการปรับตัวองค์กรทั้งภายในและภายนอก โดยเน้นพัฒนานิสิตให้เป็นผู้นำที่มีมุมคิดนวัตกรรม มีความเป็นนานาชาติ และมีจริยธรรม ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างต่างๆ เช่น ห้องจำลองการเงินไฟแนนเชียลแล็บ ระบบการสอนออนไลน์ การเชิญคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาสอนอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การขยายโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง ออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ สแตนฟอร์ด ฮาร์วาร์ด ฯลฯ เพื่อให้นิสิตมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ที่เป็นเวิลด์คลาสอย่างแท้จริง
รวมถึงการตั้งหน่วยงานช่วยเหลือสังคมที่เพิ่มเติมจากเดิมที่ทำกิจกรรมรับผิดชอบสังคมเฉพาะ CSR แต่ต้องขยับมาทำ DSR (Digital Social Responsibility) รับผิดชอบสังคมในโลกดิจิทัลเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมบนโลกออนไลน์ไปพร้อมกันด้วย
โดยในส่วนของความร่วมมือกับ WEF และ OXFAM รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในส่วนของการดำเนินงานภายนอก ซึ่งนอกจากจะสร้างประโยชน์โดยตรงให้กับเศรษฐกิจสังคมไทยแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์ถึงศักยภาพความสามารถของคณาจารย์ในคณะบัญชีฯ จุฬา ว่ามีคุณภาพทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงการยอมรับในระดับโลก และยังเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสอื่นๆ อีกหลายด้านด้วย โดยคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ในยุคที่ไม่ได้แค่เป็นฝ่ายตั้งรับตามกระแส Digital Disruption แต่เราจะต้อง Disrupt the Digital ควบคู่ขนานไปด้วย
"คณะฯ มีแผนเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นสถาบันการสอนด้านบริหารธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่ให้ประสบการณ์ทางความคิด เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความเฉลียวฉลาดในการเติบโต และมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม"