ต่อยอด...ฝาท่อติดคิวอาร์โค้ด บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน
สกสว.พร้อมหนุนทีมวิจัยจากศิลปากรเดินหน้าพัฒนาทุนทางศิลปวัฒนธรรมย่านเยาวราช เตรียมทำฝาท่อติดคิวอาร์โค้ดบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน หลังประสบความสำเร็จจากงานประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำคลองโอ่งอ่าง สานพลังวิทย์ วิศวะ และศิลปะ เพื่อต่อยอดให้เกิดการวิจัยอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมที่สุดกับชุมชน
เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำสื่อมวลชนชมอาคารและชุมชนบนเส้นทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง จากสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) ถึงสะพานโอสถานนท์ พร้อมทั้งชมผลงานศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำ 5 จุด ในโครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” ซึ่งมี รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สกสว.ในปัจจุบัน
นักวิจัยได้เสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นำไปใช้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนใน “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง” และโครงการศิลปะชุมชน “กิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ” ปี 2561
นอกจากนี้ในโครงการส่วนต่อจากคลองโอ่งอ่างที่กรุงเทพมหานครมีแผนในการดำเนินการต่อไปนั้น การใช้งานศิลปะโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมก็เป็นแนวทางหนึ่งในการแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน
ล่าสุด สกว. โดยหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาทุนทางศิลปวัฒนธรรมย่านเยาวราช” ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้ชุดโครงการ “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ครั้งที่ 3 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการอำนวยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในมิติต่าง ๆ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคีหลักในพื้นที่ ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่เยาวราช เจริญกรุง และบริเวณใกล้เคียง ที่มีเรื่องราวของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานมาหลายสมัยจนกลายเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลือแหล่งศิลปะและวัฒนธรรมตกทอดมาจากอดีต
ประกอบกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) นับได้ว่า เป็นเส้นทางเชื่อมต่อย่านประวัติศาสตร์เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์กับธนบุรีผ่านถนนเจริญกรุง โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวรายย่อยและผู้คนเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี โครงการรถไฟฟ้าก็มีผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะการขายที่ดิน ผลัดเจ้าของ และเกิดโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ มีแนวโน้มจะเกิดโครงการขนาดใหญ่และกลางเกิดขึ้นตามมา การพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมเชิงพาณิชย์และการปรับปรุงรูปแบบการท่องเที่ยวจะสร้างผลกระทบกว้างขวาง การย้ายออกของชุมชนผู้อาศัยเดิมและการรื้อถอนอาคารจะเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การพัฒนาย่านเยาวราชในอนาคต จำเป็นต้องศึกษาเพื่อวางแผนและปรับปรุงทิศทางให้เกิดความยั่งยืน โดยปัจจุบันชุมชนเก่าแก่ที่ยังเกาะตัวอยู่รวมกันและคงความเป็นตัวตนของชุมชนจึงมีไม่มากนัก โดยชุมชนที่มี ศักยภาพและความต้องการในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับสูง ได้แก่ ชุมชนเจริญไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระดาษไหว้เจ้า, ชุมชนนานา แหล่งขายยาสมุนไพรจีนที่ปัจจุบันเป็นแหล่งรวมนักกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม และชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและถูกไล่รื้อถอน แต่รวมตัวกันเป็นชุมชนเข้มแข็งที่อนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์
จากการทบทวนเรื่องการพัฒนาพื้นที่เมืองโดยการปกป้องและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม พบว่า มีความจำเป็นด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับการดำเนินการศึกษาในโครงการวิจัยนี้มีเครื่องมือวิจัย 3 ด้าน คือ
1. การจัดการแผนที่ทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือค้นหาต้นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ตัวตนของย่านร่วมกับชุมชนเจ้าของพื้นที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สร้างกลไก แนวปฏิบัติในการจัดการมรดกวัฒนธรรม
2. การสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม ได้แก่ การสร้างกิจกรรม การทดลองและการสื่อสาร เป็นเวทีแห่งการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และระดมสมองทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการ จัดการศิลปะและวัฒนธรรมในชุมชน
3. การสร้างวิสาหกิจวัฒนธรรม ได้แก่ การริเริ่มงาน และกิจกรรมทางศิลปะ และวัฒนธรรมในรูปแบบและความหมายใหม่ เพื่อสร้างผลผลิตหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ในงานหรือกิจกรรมที่พัฒนาจากฐานทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน
ที่ผ่านมาคณะวิจัยได้จัดกิจกรรมวันไหว้พระจันทร์ของชุมชนเจริญไชย การเสวนา “ไหว้เจ้า ไหว้พระจันทร์ วิถีชุมชนจีนเจริญกรุงเยาวราช” นำชมซุ้มไหว้พระจันทร์ นิทรรศการผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ ส่วนกิจกรรมที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน คือ การออกแบบศิลปะบนฝาท่อเพื่อเผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน การออกแบบศิลปะสาธารณะ โดยประสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน อาทิ การประปานครหลวง เพื่อร่วม พัฒนาฝาท่อประปาในย่านเยาวราชติดคิวอาร์โค้ดเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น ไทย อังกฤษ จีน เป็นต้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีเดิม คือ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร และยังให้การสนับสนุนในโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ย่านเยาวราช
ในอนาคต นักวิจัยจะหาแนวทางพัฒนาศิลปะสาธารณะกับสาธารณูปโภคประเภทอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการโรงงานผลิตฝาท่อจาก บจก. นวกาญจน์โลหะชลบุรี เข้ามาร่วมพัฒนาศิลปะของผลิตภัณฑ์ฝาท่อของประเทศไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับนานาชาติ รวมถึงการพัฒนาเมนูอาหารต้นแบบด้วยทุนทางวัฒนธรรมของเยาวราช การพัฒนาศาลเจ้าเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนเยาวราช การประชุมหารือเพื่อประสานความร่วมมือเชิงบูรณาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และศิลปะ เพื่อวางแผนต่อยอดให้เกิดการวิจัยอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมที่สุดกับชุมชน ทั้งด้านการจัดการ ด้านปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้านปัญหาทางเสียง
ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้อาศัยเดิมในย่านเก่าแก่อายุนับร้อยปี ข้อมูลจาก สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ระบุถึงตึกแถวชุมชนซอยเลื่อนฤทธิ์ว่า มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ประกอบกับชาวชุมชนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง โดยแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงเปิดโอกาสให้ผู้เช่าเดิมมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ โดยต่อมาผู้เช่าเดิมได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด และเข้าทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อพัฒนาพื้นที่ในแนวทางของการอนุรักษ์
โดยปัจจุบันบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารตามแนวทางดังกล่าว ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมศิลปากร นางสุวรรณา คงศักดิ์ไพศาล รองประธานกรรมการบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เผยว่า ชาวชุมชนได้ลงขันกันก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา และปรับปรุงอาคารบ้านเรือนเดิมด้วยเงินทุนเกือบพันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางระบบสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ซึ่งจะวางสายลงดิน รวมทั้งระบบบำบัดน้ำเสีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนปี 2563
“เราตั้งใจอยู่กับโบราณสถานที่คนปัจจุบันอยู่ได้ ทำมาหากินได้ และมีอนาคตได้ ก้าวข้ามสังคมข้างหน้าไปได้ โดยวางแผนจะทำเป็นถนนคนเดิน จัดโซนต่าง ๆ เช่น ตลาดกลางคืน ร้านอาหาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับบรรยากาศเรื่องราวในอดีต รับรู้รากเหง้า ไปจนถึงวิถีชีวิตปัจจุบันและอนาคตที่พวกเราจะพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่ได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ประติมากรรมบนที่สาธารณะ :ฝาท่อริมคลองโอ่งอ่าง กำลังจะเปลี่ยนไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/