สนพ.สร้างความรู้ปชช.ดันระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดตอบโจทย์ความมั่นคงอนาคต
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ปิดท้ายเวทีสัมมนาเชียงใหม่ เดินสายให้ความรู้ภาคประชาชน เรื่อง “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ครั้งที่ 4 เชิญ 2 การไฟฟ้า ร่วมเผยแผนดำเนินงานและทิศทางการพัฒนาระบบไฟฟ้าประเทศในอนาคต
ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ระบบบริหารจัดการไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดของประเทศ
“การพัฒนาระบบสมาร์ทกริด นอกจากจะช่วยในการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังเกิดการต่อยอดการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม คือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภาคอุตสาหกรรม ลดการสูญสียทางเศรษฐกิจจากการเกิดไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ การพัฒนาด้านธุรกิจและการลงทุน เป็นการส่งเสริมธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อเปิดโอกาสสู่ธุรกิจใหม่ และการพัฒนาด้านวิทยาการความรู้ทางเทคโนโลยี คือสร้างบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสมาร์ทกริด เพราะต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไฟฟ้าโดยตรงในปัจจุบัน”
นายสวภพ ตรรกพงศ์ วิศวกรระดับ 9 และหัวหน้าหน่วยเทคโนโลยีสมาร์ทกริด โครงการพัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดและไมโครกริดที่แม่ฮ่องสอนว่า ที่ผ่านมาก่อนจะมีโครงการสมาร์ทกริด เมื่อเกิดเหตุขัดข้องเนื่องจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่แม่ฮ่องสอน สายส่งจากแม่แตง -ปาย-อ.เมืองขัดข้อง โรงไฟฟ้าในพื้นที่จะถูกตัดออกจากระบบ ทำให้เกิดไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง หลังจากที่มีโครงการพัฒนาฯ ก็ทำให้ระบบไฟฟ้ามีสเถียรภาพสูง ลดปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับได้ เพราะมีแหล่งผลิตพลังงานที่เพียงพอ มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแล้วจ่ายออกทันทีที่ดับด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาสมาร์ทกริดเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชน โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถผลิตพลังงานใช้เองดูแลตัวเองได้ภายในศูนย์ฯ
นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เล่าถึงพัฒนาการของระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด โดยมองว่าจะมีผู้เล่นด้านไฟฟ้าเพิ่มรายขึ้นจากกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายส่วนเกินในพื้นที่และคืนเข้าระบบไฟฟ้า (Prosumer) อีกทั้งจะสร้างธุรกิจใหม่คือธุรกิจรวบรวมโหลดและจัดสรรโหลด (Load Aggregator) ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษา กฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องที่เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี คือการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์จำนวน 116,308 เครื่อง โดยมีแผนจะขยายผลการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ในปีหน้า 2563
กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2558 – 2579) โดยแบ่งเป็นแผนพัฒนาระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งแผนระยะสั้น (พ.ศ.2560 – 2564) จะเป็นช่วงของการค้นคว้าทดลองทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ภาคประชาชน ส่วนระยะปานกลาง จะเป็นช่วงที่นำสิ่งที่วิจัยทดลองในระยะสั้นส่งไปสู่ประชาชน (พ.ศ. 2565 – 2574) และระยะยาว คือพร้อมปฏิบัติได้จริง (พ.ศ. 2575 – 2579) ทั้งนี้ แผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) ด้วย
สนพ. ได้จัดให้มีการสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” เพื่อสร้างความรู้ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 นับจากครั้งแรก จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี และปิดท้ายด้วยจังหวัดเชียงใหม่ โดยหวังว่าภาคประชาชนจะทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองในการเปิดรับกับเทคโนโลยีพลังงานที่เข้ามาสร้างให้เกิดความมั่นคงด้านไฟฟ้าในอนาคต