บางจากฯ โชว์วิสัยทัศน์ล้ำ นำเทรนด์โลก จัดสัมมนา SynBio Forum 2019
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเวทีสัมมนา “SynBio Forum 2019 ชีวนวัตกรรม ศาสตร์เปลี่ยนโลก” อัพเดตความก้าวหน้าเทคโนโลยีชีวภาพโลก สอดคล้องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG Model ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ผ่านมุมมองจากวิทยากรทั้งภาครัฐและเอกชน จากทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมจัดแสดงข้อมูลและผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรม SynBio
เป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรโลกมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลกระบุว่าในปี 2030 ประชากรโลกจะมีถึง 9,700 ล้านคน (จากประมาณ 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน) แต่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด โลกไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการของมนุษย์ เมื่อผนวกรวมกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกที่เพิ่มขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล้วนเป็นอุปสรรคต่อระบบนิเวศของโลกและยังส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนพื้นที่ทำกิน ทำให้เกิดวิกฤติทรัพยากรโลกขึ้น นักวิทยาศาสตร์ในสถาบันวิจัยชั้นนำต่างๆ จึงได้ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสามารถตอบโจทย์วิกฤติทรัพยากรโลก เป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยี “Synthetic Biology” หรือ “SynBio” ที่นอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรโลก และสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบางจากฯ ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความยั่งยืนมาโดยตลอด เรายึดแนวการทำธุรกิจภายใต้ BCG Model สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมี 3 แนวหลักคือ B (Bio economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า C (Circular economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด และ G (Green economy) เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
สำหรับการสัมมนาในปีนี้เป็นเรื่องของ ชีวนวัตกรรม Synthetic Biology (SynBio) ซึ่งเป็น Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนเครื่องมือในการออกแบบอนาคต มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเกษตร พลังงาน และการแพทย์ ฯลฯ โดย SynBio เป็นการนำนวัตกรรมมาสร้างสิ่งมีชีวิต (Living Organisms) ด้วยฝีมือของมนุษย์ ไม่ใช่การเกิดโดยธรรมชาติ ผสานความรู้ทางด้านชีววิทยา เทคโนโลยี และวิศวกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรโลกและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ ลดขั้นตอนในกระบวนการผลิต ลดการปล่อยของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุน
ซึ่งในความเป็นจริงนั้น SynBio ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ที่ใกล้ตัวพวกเราที่สุด น่าจะเป็น Biofuel หรือเชื้อเพลิงชีวภาพที่สามารถทดแทนการกลั่นน้ำมันดิบหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ดีต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งกลุ่มบางจากฯ ก็ดำเนินธุรกิจนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ผ่านบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)
ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ SynBio อื่นๆ ที่ได้ออกสู่ท้องตลาดในต่างประเทศ เช่นเนื้อวัวเทียมที่ผลิตจากพืชของ Impossible Burger และ Beyond Burger สตาร์ทอัพจากอเมริกา หรือเส้นใยแมงมุมสังเคราะห์จากโปรตีน ผ่านกระบวนการผลิตด้วย SynBio เกิดเป็นเส้นใยที่ทนทานที่สุดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา รวมถึงยารักษาโรคมะเร็งออกฤทธิ์ตรงกับเซลล์มะเร็งและไม่ทำลายเซลล์ที่ดีในร่างกาย เป็นต้น
ผู้ร่วมเปิดประสบการณ์ด้าน SynBio ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ได้แก่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ นวัตกรรม SynBio สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรม SynBio ในประเทศไทยบรรยายเรื่อง SynBio: Global Trends & Industry Perspectives โดย Ms. Babette Pettersen, Director Business Development, Ginkgo Bioworks, Inc. สตาร์ทอัพยูนิคอร์นระดับโลก (สตาร์ทอัพที่เติบโตมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญ) จากสหรัฐอเมริกา พร้อม Mr. Mukund Rao ที่ปรึกษา บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และการบรรยายหัวข้อ Brewing the Material Future โดย Mr.Daniel Meyer, Head of Global Corporate Planning, Spiber Inc. สตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นผู้ผลิตแจ็คเก็ตเส้นใยแมงมุมสังเคราะห์ที่ทนทานที่สุดในโลก Moon Parka ของ The North Face
ปิดท้ายด้วยเวทีเสวนา “จากศาสตร์สู่การนำไปใช้ SynBio: Connecting Science with Business and Life” โดย ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล และวนิษา เรซ (หนูดี) นักเขียน นักวิชาการ ผู้ให้ความสนใจ Plant-based food อาหารเน้นพืช ที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และถ่ายทอดตัวอย่างการนำนวัตกรรม SynBio ไปใช้จริง