องค์การอนามัยโลกเผยเกษตรกร 14% ใช้สารเคมีต้องห้าม
องค์การอนามัยโลกเผยเกษตรกรเกือบ 100% ป่วยจากสารเคมี สธ.เสนอทบทวนขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายการเกษตร ปัจจุบันนำเข้าปีละกว่า 1 แสนตัน โชว์โครงการเกษตรปลอดโรค-ผู้บริโภคปลอดภัย มอบกรมแพทย์แผนไทยหาสมุนไพรทดแทน
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุมการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่การนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรกลับมีปริมาณสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นควรจะมีการทบทวนการขึ้นทะเบียนของสารอันตรายใหม่ เพื่อประโยชน์ในการปกป้องสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
นางพรรณสิริ กล่าวว่า จากสถิตของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2551 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลด้วยอาการป่วยจากสารพิษของยากำจัดศัตรูพืช 8,919 คน เสียค่าใช้จ่ายกว่า 47 ล้านบาท สอดคล้องกับผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกที่พบว่าเกษตรกรเกือบทั้งหมดเคยป่วยจากพิษของสารเคมี โดยมีเกษตรกรถึง 14% ที่ใช้สารเคมีต้องห้าม
รมช.สธ.กล่าวว่า ปีนี้ สธ.ได้ดำเนินโครงการเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส เน้นป้องกันการเจ็บป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคทั่วไป โดยจะกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและแนวทางการป้องกันอย่างชัดเจนสู่หน่วยงานระดับต่างๆ นอกจากนี้ได้มอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หาแนวทางการนำสมุนไพรไทยมาใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาทิ สะเดา
“การใช้สารกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรจะต้องใส่ถุงมือ สวมหน้ากากปิดปากจมูก สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสสารเคมีโดยตรงที่ผิวหนังและการสูดเข้าทางจมูก” นางพรรณ สิริกล่าว
ทั้งนี้วัตถุอันตรายที่มีการควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2544 และพ.ศ. 2551 แบ่งออกเป็น 4 ชนิด โดยในปี 2552 นำเข้าถึง 118,151 ตัน วัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนแล้วประกอบด้วยสารกำจัดแมลง 133 ชนิด สารกำจัดวัชพืช 136 ชนิด สารป้องกันกำจัดโรคพืช 112 ชนิด สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและอื่นๆอีก 58 ชนิด .
ที่มาภาพ : http://www.chiangmainews.co.th/read.php?id=10009