ร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
วันที่ 6 พ.ย. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง ร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ 4 ประการ ดังนี้
1. เพื่อให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ที่เหมาะสมกับความสมดุลของระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
2. เพื่อหยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อให้มีการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเหมาะสม ยั่งยืน เป็นธรรม และเป็นฐานการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคำถึงถึงดุลยภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
4. เพื่อให้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติประกอบด้วยบทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครอบคลุม 3 ด้าน จำนวน 24 ข้อ ดังนี้
1. นโยบายด้านการจัดการป่าไม้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติจำนวน 13 ข้อ โดยจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ของรัฐ การทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติ การครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต ระบบสารสนเทศทรัพยากรป่าไม้ที่ยังไม่เหมาะสม การใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้อย่างไม่เหมาะสม และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ดังนี้
ข้อ | บทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ |
1 | เชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐในการบริหารจัดการป่าไม้ทุกระดับให้มีเอกภาพและประสานกันตามห่วงโซ่การพัฒนาระหว่างการบริหารราชการทุกระดับ รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือและพัฒนากลไกหรือเครื่องมือ ในการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนาป่าไม้ของชาติในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการอย่างมีเป้าหมายและต่อเนื่อง |
2 | กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตรา ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ประกอบด้วย (1) ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ (2) ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศโดยกำหนดให้เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าชุมชน ให้ได้ตามเป้าหมายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดในแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ |
3 | จำแนกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการบริหารจัดการในภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม |
4 | ปรับปรุงแนวเขตที่ดินป่าไม้ทุกประเภทของรัฐให้ชัดเจนและมีเอกภาพด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
5 | พัฒนาระบบสารสนเทศทรัพยากรป่าไม้ทั้งในภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ให้มีมาตรฐาน เอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท และเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรอื่นของประเทศและกำหนดหน่วยงานหรือคณะบุคคลผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนและเหมาะสม |
6 | ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทและหน้าที่ของทุกภาคส่วนให้มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วม รวมทั้งรับผิดชอบในการอนุรักษ์ การจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน |
7 | หยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ในที่ดินป่าไม้ของรัฐทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานที่ชัดเจน |
8 | บริหารจัดการป่าอนุรักษ์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งป้องกันภัยธรรมชาติต่าง ๆ และรักษาสภาพธรรมชาติที่สวยงามหรือมีจุดเด่นเฉพาะตัว โดยให้คงไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติ รักษาดุลยภาพของระบบนิเวศให้มากที่สุด ซึ่งการใช้ประโยชน์ต้องกระทำเท่าที่จำเป็นตามศักยภาพหรือขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การวิจัย และนันทนาการ |
9 | จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของรัฐอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจากการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ โดยให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบเวลา |
10 | พัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์และการตลาดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสม |
11 | ฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มีความสมบูรณ์ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการฟื้นฟูอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง มีการติดตาม ประเมินผล และเผยแพร่ผลการดำเนินงานต่อสาธารณะบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น |
12 | ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยประโยชน์ต่อชุมชน สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ป่าไม้ของประชาชน เป็นส่วนส่งเสริมให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง และเป็นการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน |
13 | พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าทั้งระบบ รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างเป็นรูปธรรม และสัตว์ป่าได้รับการคุ้มครอง รักษา และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ |
2. นโยบายด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติ จำนวน 4 ข้อ โดยจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เพียงพอของปริมาณไม้เศรษฐกิจ ต่อความต้องการใช้ไม้ ความไม่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลจากป่าไม้ มาตรฐานการรับรองป่าไม้ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ไม่ยั่งยืน ดังนี้
ข้อ | บทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ |
1 | ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งในที่ดินของรัฐที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์และในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่มิใช่ของรัฐให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไม้ และตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน |
2 | ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลจากป่าไม้ครบวงจรในทุกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม |
3 | พัฒนาและส่งเสริมการรับรองป่าไม้ตามมาตรฐานการรับรองป่าไม้ให้เป็นที่ยอมรับและได้รับการรับรองทั้งในระดับประเทศและระดับสากล |
4 | ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์การบริการจากป่าไม้อย่างสมดุล ยั่งยืน และเกื้อกูลระบบนิเวศ |
3. นโยบายด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติ จำนวน 7 ข้อ โดยจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ เอกภาพ ธรรมาภิบาล และความสอดคล้องกันในการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ข้อ | บทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ |
1 | ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ให้สามารถบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขนาดที่เหมาะสม ลดความซ้ำซ้อน และปรับปรุงวิสัยทัศน์ ภารกิจ หรือพันธกิจของหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ |
2 | พัฒนาศักยภาพหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตให้กับประชาชนและการบริการอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม |
3 | พัฒนาและส่งเสริมให้มีธรรมาภิบาลในการบริหารงานป่าไม้ทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐมีการบริหารอัตรากำลังที่มีความคล่องตัว ยึดระบบคุณธรรม บุคลากรภาครัฐยึดค่านิยมในการทำงานเพื่อประชาชนและประเทศ มีคุณธรรมและมีการพัฒนาตามเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ |
4 | พัฒนาบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรป่าไม้ทุกระดับให้มีความเป็นมืออาชีพในงานป่าไม้ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน รวมทั้งจัดสวัสดิการของบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองและรักษาทรัพยากรป่าไม้ในภาคสนามให้มีความเหมาะสมกับลักษณะงานที่ปฏิบัติและไม่น้อยกว่าบุคลากรสายงานอื่นที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน |
5 | กำหนดให้มียุทธศาสตร์หรือแผนการวิจัยภาคป่าไม้ในนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือแผนการวิจัยระดับชาติ และ/หรือพิจารณาจัดตั้งสถาบันวิจัยป่าไม้ในระดับชาติ รวมทั้งสนับสนุนและพัฒนางานวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม ให้ตอบสนองต่อการปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ทั้งระบบ |
6 | ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ป่าไม้ทั้งระบบ รวมทั้งพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย |
7 | ให้มีคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่จัดตั้งเป็นการถาวรโดยกฎหมาย มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ประสานและให้คำแนะนำแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้พิจารณาจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ |