ชัดๆ 7 ข้อบกพร่อง สตง.สอบกองทัพซื้อยางรถแพงเกินจริง-จนท.โดนลดบำเหน็จชดใช้เฉียดล้านสอง
"...ตรวจสอบสถานประกอบการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง พบว่า บ้านเลขที่ดังกล่าวมีป้ายหน้าร้านระบุชื่อเป็นสถานประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์รับออกแบบป้ายโฆษณา พิมพ์ป้ายอิงค์เจ็ท โดยไม่พบว่าได้เปิดเป็นร้านจำหน่ายยางรถยนต์หรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวกับรถยนต์แต่อย่างใดแม้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลจะระบุวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดในข้อ 40 ว่า ประกอบกิจการค้ายางก็ตาม กรณีนี้จึงอาจพิจารณาได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว มิได้เป็นผู้มีอาชีพขายพัสดุที่ประกวดราคาซื้ออันจะทำให้ไม่สามารถสืบราคายางรถยนต์จากร้านค้าดังกล่าวได้และไม่สามารถพิจารณาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติในการเสนอราคา..."
โดนชดใช้เงินพร้อมลดบำเหน็จ รวม 5 คน เกือบล้านสอง!
คือ บทสรุปสำคัญในรายละเอียดคำชี้แจงข้อเท็จจริง ของ พ.อ.ภักดี แสงประเสริฐ ผู้อำนวยการกอง 11 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ต่อ กรณี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการทำสัญญาซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) 26 รายการ ของ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ในหลายประเด็น ที่ส่อให้เห็นพิรุธฝ่าฝืนการดำเนินงานตามระเบียบหลายประการ อาทิ การประกาศราคากลางงานจัดซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) ในระบบฐานข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-GP) ไม่ระบุราคาต่อหน่วยของยางรถยนต์แต่ละรายการที่จัดซื้อ การกําหนดราคากลางยางรถยนต์สูงกว่าความเป็นจริงทําให้ทางราชการได้รับความเสียหาย มีการขายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในราคาชุดละ 1,000 บาท ส่งผลให้ มีผู้สนใจมาซื้อเอกสารน้อยรายกว่าที่ควร และไม่เป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ยางรถยนต์ที่จัดซื้อมีราคาสูงกว่าท้องตลาดมากเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1.18 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม!คำชี้แจง ผอ.กอง 11 ศูนย์รปภ.กองทัพ ถูก สตง.สอบจัดซื้อยางรถแพงเกินจริง 1.8 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบฉบับเต็มของ สตง. ถึงปัญหาการทำสัญญาซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) 26 รายการ ของ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ดังกล่าว พบว่า มีการระบุข้อบกพร่อง ใน 7 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
1. การประกาศราคากลางงานจัดซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) ในระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-GP) ไม่ระบุราคาต่อหน่วยของยางรถยนต์แต่ละรายการที่จัดซื้อจำนวน 26 รายการ เป็นการเปิดเผยราคากลางที่ไม่ถูกต้องตามแนวทางการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างราคากลางและการคำนวณราคากลางตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง
2. มีการกำหนดราคากลางยางรถยนต์สูงกว่าความเป็นจริงทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
3. ประกาศประกวดราคาซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) ในระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-GP) ระบุรายการที่ต้องการซื้อในประกาศว่า “ซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) จำนวน 1 งาน” โดยไม่มีการระบุรายละเอียดของยางรถยนต์ที่ต้องการจัดซื้อว่ามีจำนวนกี่รายการและแต่ละรายการต้องการยางรถยนต์แบบใด จำนวนเท่าใด เป็นการประกาศประกวดราคาซื้อที่ไม่ถูกต้องตามตัวอย่างประกาศประกวดราคาซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์(ElectronicBidding :e–bidding)แจ้งตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 188 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Market :e–market)และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Bidding : e–bidding)
4. มีการขายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding) ในราคาชุดละ 1,000 บาท ส่งผลให้มีผู้สนใจมาซื้อเอกสารน้อยรายกว่าที่ควรและไม่เป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ซึ่งไม่ถูกต้องตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 46 วรรคสาม และหนังสือด่วนที่สุดที่กค(กวพ) 0421.3/ว 338 ลงวันที่ 3 กันยายน 2555 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดราคาขายเอกสารประกวดราคา
5. ตรวจพบยางรถยนต์จำนวน 390 เส้น จากทั้งหมด 512 เส้น ยังไม่ได้นำไปเปลี่ยนใส่รถยนต์แต่นำไปเก็บไว้ในคลังเก็บพัสดุ ทั้งที่ได้ตรวจรับยางรถยนต์มาแล้วกว่า 3 เดือน
6. ยางรถยนต์ที่จัดซื้อมีราคาสูงกว่าท้องตลาดมากเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1.18 ล้านบาท
7 .ตรวจสอบสถานประกอบการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง พบว่า บ้านเลขที่ดังกล่าวมีป้ายหน้าร้านระบุชื่อเป็นสถานประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์รับออกแบบป้ายโฆษณา พิมพ์ป้ายอิงค์เจ็ท โดยไม่พบว่าได้เปิดเป็นร้านจำหน่ายยางรถยนต์หรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวกับรถยนต์แต่อย่างใดแม้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลจะระบุวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดในข้อ 40 ว่า ประกอบกิจการค้ายางก็ตาม กรณีนี้จึงอาจพิจารณาได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว มิได้เป็นผู้มีอาชีพขายพัสดุที่ประกวดราคาซื้ออันจะทำให้ไม่สามารถสืบราคายางรถยนต์จากร้านค้าดังกล่าวได้และไม่สามารถพิจารณาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติในการเสนอราคา
สตง.ได้มีหนังสือแจ้งให้กองบัญชาการกองทัพไทย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีแก่เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดราคากลาง คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อเรียกชดใช้เงินคืนให้กับทางราชการเป็นเงิน 1.18 ล้านบาท
ต่อมา กองบัญชาการกองทัพไทยได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามข้อทักท้วงของ สตง. ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเห็นพ้องกับข้อทักท้วงของสตง. และเห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดราคากลางและการขออนุมัติหลักการจัดซื้อ ได้กระทำไปตามหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการ แต่ยังมีความบกพร่องต่อหน้าที่ขาดความละเอียดรอบคอบและไม่มีการตรวจสอบข้อมูลสาระสำคัญในการจัดซื้อให้ถูกต้องตามที่ระเบียบต่างๆ กำหนดไว้
จึงเห็นควรให้มีการว่ากล่าวตักเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 10 (3)รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่กำหนดราคากลางร่วมกันชดใช้เงิน จำนวน 1.18 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาจัดซื้อยางรถยนต์ที่มีราคาสูงเกินกว่าราคาในท้องตลาด
พร้อมให้เจ้าหน้าที่กำหนดราคากลางได้ร่วมกันชดใช้เงินดังกล่าวให้กับทางราชการเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า สตง. ได้เข้าไปตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมด้วยหรือไม่? อย่างไร?
อ่านประกอบ :
ข้อมูลลับ สตง.อุบเงียบสอบซื้อยางรถยนต์กองทัพปัญหาเพียบ -'คงชีพ' แจงเรื่องเก่าปี 58
โดนลดบำเหน็จชดใช้เฉียดล้านสอง! ผอ.ศูนย์รปภ.กองทัพ แจงเคลียร์ปัญหาสตง.สอบซื้อยางแพงแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/