มูลนิธิสุขภาพไทยแนะรัฐส่งเสริมแพทย์พื้นบ้านดูแลสุขภาพคนในชุมชน
วงเสวนาจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านเห็นพ้อง ทิศทางแพทย์พื้นบ้านควรเน้นการขับเคลื่อนในระดับชุมชนเพื่อดูแลสุขภาพคนในชุมชนเป็นหลัก ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทยชี้รัฐมองภาพการแพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนไทย สมุนไพร ในเชิงเศรษฐกิจทำให้ห่างไกลจากความเป็นหมอที่ดูแลคน แนะควรนำการแพทย์พื้นบ้านกลับมาสู่การดูแลสุขภาพเพื่อพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทยและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการฯได้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านในประเทศไทย ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยที่ประชุมเห็นด้วยว่าในเชิงทิศทางแล้ว การพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านควรมุ่งเน้นในระดับวัฒนธรรมชุมชน การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนควบคู่ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อดูแลสุขภาพคนในชุมชนให้แข็งแรงเป็นหลัก ส่วนการแพทย์พื้นบ้านในระดับของวิชาชีพนั้นจะมีการจัดเวทีอีกครั้งเพื่อพูดคุยและจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น ถ้ามีข้อเสนอในเชิงกฎหมายก็จะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรว่าถ้าจะออกกฎหมายข้อบังคับต่างๆควรคำนึงในเรื่องใดบ้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สะท้อนถึงสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อนมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่คนในแวดวงการแพทย์พื้นบ้านไม่ค่อยได้ขบคิดกัน ส่วนใหญ่จะจมอยู่กับเรื่องผลิตภัณฑ์ กระบวนการ วิธีการต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดการสื่อสารถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันในวงของคนที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้นำเสนอโมเดลรูปแบบการทำงานด้านการแพทย์พื้นบ้านของคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานกับชุมชนและผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมท่ามกลางการเจริญเติบโตของเมืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ทำให้เกิดแนวคิดว่าควรจะมีการจัดเวทีให้คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในพื้นที่ต่างๆได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานแพทย์พื้นบ้านต่อไป
นายวีรพงษ์ ยังให้ความเห็นอีกว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐอาจมองภาพของการแพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนไทย สมุนไพรต่างๆ ในเชิงเศรษฐกิจเพื่อสนองนโยบายของรัฐที่มุ่งในเชิงเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก ทำให้เกิดการมุ่งสู่การทำผลิตภัณฑ์ ทำอย่างไรให้เกิดการขาย เกิดการบริการในทางเศรษฐกิจซึ่งอาจจะทำให้ห่างจากความเป็นหมอที่ดูแลคน ตนอยากชวนคิดว่าถ้ามองแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพคือเป็นหมอ ควรมุ่งเน้นสู่การช่วยดูแลสุขภาพ กลับมาสู่การดูแลสุขภาพเพื่อพึ่งพาตนเองในระดับครัวเรือนหรือชุมชน ซึ่งถ้าทำได้ ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงก็นำไปสู่การประกอบอาชีพและเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เช่นกัน
"แต่การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นคนที่อยากพัฒนาสินค้า การตลาด การค้าขายนะ แต่หมายถึงจุดเน้นตรงนี้ควรเข้ามาส่งเสริมสุขภาพประชาชนด้วยสิ่งที่ประเทศเราพึ่งตัวเองได้ การแพทย์พื้นบ้านที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆควรต้องมารับใช้คนในชุมชน แต่บางส่วนจะพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจก็ไม่ว่ากันเพียงแต่เราคิดว่าการแพทย์พื้นบ้านมันเป็นวัฒนธรรมชุมชน ถ้าจะทำให้เป็นเรื่องเศรษฐกิจก็ควรเป็นเศรษฐกิจชุมชน เป็นรายได้เสริมของชุมชน" นายวีรพงษ์ กล่าว