เปิดตัวเลขไทยนำเข้า ‘ขยะพลาสติก’ พุ่ง 7,000% เหตุ ‘จีน’ แบน- ‘ญี่ปุ่น’ ส่งออกมากสุด
เปิดข้อมูลนำเข้าขยะพลาสติกในไทย ช่วงหนึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุด 7,000% เหตุจีนสั่งเเบน ขณะที่ 'ญี่ปุ่น' ส่งออกมากที่สุด นักวิจัยชี้กม.เปิดช่องทำได้ ย้ำต้องเป็นพลาสติกสะอาดเท่านั้น
‘ขยะพลาสติก’ เป็นประเด็นที่สาธารณชนกำลังให้ความสนใจ เพราะข้อมูลชี้ให้เห็นแล้วว่า กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก
รัฐบาลภายใต้การนำรัฐนาวาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีนโยบายลดนำเข้าขยะพลาสติก แต่องค์กรภาคประชาสังคมยังไม่ไว้วางใจ เพราะนโยบายก่อนหน้านี้อย่างการแบนนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 400 รายการ ตั้งแต่ปี 2561 จนเวลานี้ยังไม่มีการประกาศรายชื่อออกมา
ปัญหาดังกล่าวทำให้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวทีสัมมนาวิชาการ เรื่อง ธุรกิจขยะข้ามพรมแดน : สถานการณ์ในประเทศไทย จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
“ช่วงหนึ่งประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 2,000-7,000%”
โดยจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง หัวหน้าโครงการศึกษา เรื่อง การนำเข้าของเสียและผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุมีสาเหตุจากจีนมีนโยบายห้ามมีขยะพลาสติก
เธอกล่าวต่อว่า ขยะพลาสติกในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป จะมีระบบการคัดแยกค่อนข้างดี แต่เมื่อคัดแยกแล้ว ต้องเข้าใจว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลหรือการหล่อหลอมพลาสติก เป็นอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูงมาก และเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็ง อากาศปนเปื้อน รวมถึงการนำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยต่าง ๆ
“ประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่นิยมให้มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือถ้ามีอยู่ จะใช้พลาสติกเกรดดี”
ส่วนพลาสติกเกรดต่ำ เพ็ญโฉมบอกว่าจะส่งออกมารีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยนำเข้ามาจำนวนมาก
ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้นำเข้าพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลได้ แต่จะต้องเป็นพลาสติกสะอาด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจจับพบว่า มีการนำเข้าพลาสติกสกปรกมาก ซึ่งอาจนำไปสู่โรงงานรีไซเคิล หรือทำลายทิ้ง หรือไปสู่การรีไซเคิลที่ก่อให้เกิดมลพิษสูงมาก
ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในประเทศไทย
ด้าน อัฎฐพร ฤทธิชาติ นักวิจัยร่วม มูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติก มีพิกัดศุลกากรที่ 3915 ประกอบด้วยรายการย่อย ๆ หลายรายการ เช่น ในระบบฮาร์โมไนซ์ มีโพลิเมอร์ของเอทิลีน โพลิเมอร์ของสไตรีน โพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์ และพลาสติกอื่น ๆ
มีตัวเลขปริมาณการนำเข้าย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2014-2018 พบว่า มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงขึ้นมากในกลุ่มพลาสติกอื่น ๆ โดยปี 2018 เพิ่มขึ้น 850% หรือ 383,862 ตัน จากปี 2017 ที่มีเพียง 134,142 ตัน รองลงมา โพลิเมอร์ของเอทิลีนอื่น ๆ
โดยประเทศที่มีการส่งออกและปริมาณนำเข้ารวม 5 ปี จาก 81 ประเทศ 906,521 ตัน อันดับ 1 ได้แก่ ญี่ปุ่น 270,174 ตัน (30%) รองลงมา คือ ฮ่องกง 159,903 ตัน (18%) สหรัฐฯ 147,828 ตัน (16%) ออสเตรเลีย 70,423 ตัน (8%) จีน 68,478 ตัน (8%) นอกจากนี้ยังมีแคนาดา สเปน นิวซีแลนด์ เม็กซิโก อินโดนีเซีย เป็นต้น
เมื่อดูความแตกต่างของแต่ละปีเกี่ยวกับปริมาณที่แต่ละประเทศส่งเข้ามาในไทยมีปริมาณมากน้อยต่างกันแค่ไหน จะเห็นว่า ปี 2014 ถึง 2016 แทบไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้น 2 ปีหลัง คือ 2017-1018 ที่มีญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐฯ ส่งเข้ามาในไทยจำนวนมาก
ผู้ร่วมวิจัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการนำเข้าเศษพลาสติกต่าง ๆ นั้น บางครั้งถูกจัดเป็นของกลาง บางครั้งไม่มีผู้นำเข้ามารับของออกไป ทำให้กลายเป็นของตกค้างที่ท่าเรือ ซึ่งท่าเรือจะนำออกมาประมูล
ทีมวิจัยจึงมีโอกาสตรวจสอบประกาศการขายทอดตลาดของท่าเรือแหลมฉบัง พบว่า มีสถิติการนำเศษและเศษตัดพลาสติกใช้แล้วมาขายทอดตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะ 2 ปีหลัง คือ ปี 2018 จำนวน 2,508 ตัน และ 2019 (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 9,860 ตัน
ที่น่าสนใจ คือ เศษและเศษตัดพลาสติกใช้แล้วที่มีการประมูลก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ภายในโรงงานในประเทศ แต่ในปี 2019 ท่าเรือมีการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ คือ เศษและเศษตัดพลาสติกใช้แล้วที่ประมูลได้ ต้องส่งออกภายนอกประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลเกี่ยวกับพลาสติกประมาณ6,000 แห่ง ซึ่งอยู่ในจ.สมุทรสาคร มากที่สุด กว่า 1,000 แห่ง รองลงมาคือ จ.สมุทรปราการ กว่า 800 แห่ง
.....................................................................
ข้อมูลทั้งหมดชี้ชัดแล้วว่า รัฐบาลอาจต้องมีนโยบายอะไรบางอย่าง เพื่อให้เศษและเศษตัดพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้ไทยกลายเป็นประเทศถังขยะของโลก .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:‘เพ็ญโฉม’ ซัด รบ.ละเลยจัดการพลาสติก-ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำกลไกสิ่งแวดล้อมอัมพาต