สสส.หนุนพัฒนา “สื่อใจวัยรุ่น” สร้างความรู้สุขภาวะทางเพศ
สสส.หนุนพัฒนา “สื่อใจวัยรุ่น” ส่ง 4 คลิปวีดีโอภาษามือ สร้างความรู้สุขภาวะทางเพศเด็กหญิงหูหนวก สำรวจพบความเชื่อผิดๆ กินยาคุมมากเป็นบ้า มีเซ็กส์กับเพศเดียวกันไม่ติดโรค ส่งผลมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงถูกเอาเปรียบ ล่วงละเมิดทางเพศ
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บริษัท อินคลูซีฟ คอมมูนิเคชัน จำกัด ตัวแทนจากสำนักงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โรงเรียน และวิทยาลัยอาชีวะเอกชน ร่วมเวทีสรุปบทเรียนโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ ภายในงานมีพิธีมอบโล่เกียรติคุณแก่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต้นแบบด้านการพัฒนาสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นต่อเรื่องเพศของนักเรียนหญิงหูหนวกมัธยมปลายโรงเรียนโสตศึกษาชลบุรี และโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆแบบ focus group จำนวน 24 คน และกระบวนการอบรมแกนนำนักเรียน จาก 4 สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนโสตศึกษาชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคบางแสน โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ และวิทยาลัยดอนบอสโก พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เด็กหูหนวกกว่าครึ่งมีมุมมองต่อตนเองที่ไม่ค่อยดี รู้สึกอายที่ต้องใช้ภาษามือ กลัวคนอื่นจะมองหรือพูดถึงตนเองในทางที่ไม่ดี ส่วนของเรื่องสุขภาวะทางเพศ พบว่า กรอบคิดเรื่องเพศของเด็กหูหนวกมีจำกัด มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย เด็กหูหนวกมีความรู้เรื่องเพศอยู่บ้าง แต่เป็นความรู้แบบรู้ไม่ครบ รู้คลาดเคลื่อน เช่นเชื่อว่า หากทานยาคุมกำเนิดมากเกินไปจะทำให้เป็นบ้า หรือเชื่อว่า นั่งติดกับคนมีเชื้อโรคเอดส์จะทำให้ติดเอดส์ได้ และเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจะไม่ทำให้ติดโรคเอดส์ และด้วยข้อจำกัดทางการได้ยิน ทำให้เด็กหูหนวกเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องเพศเชิงบวก ขาดประสบการณ์ และข้อมูลเรื่องเพศที่ถูกต้อง เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพทางเพศ เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบและล่วงละเมิดทางเพศ
"น้องๆ หูหนวกที่ทำการสำรวจ ยังขาดความรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ทำให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เด็กเกือบทุกคนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน บางครั้งมีเพศสัมพันธ์แบบไม่พร้อม เช่น การหลั่งนอก ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ด้วยเหตุผลเพราะเชื่อใจคนรัก หรือบางครั้งไม่ได้เตรียมไว้ หรือคนรักไม่ชอบใส่ถุงยางอนามัย โดยช่องทางการสื่อสารสร้างความรอบรู้ที่มีประสิทธิภาพ ที่เด็กหูหนวกให้ความสนใจ ไม่ใช่หนังสือ แผ่นพับ หรือคู่มือ แต่เป็นสื่อวีดีโอภาษามือ รองลงมาคือเพื่อนหูหนวก พ่อแม่ และคนหูดีที่ให้คำปรึกษาได้ ดังนั้น สสส จึงสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ เพื่อพัฒนาเครื่องมือในการสร้างความรอบรู้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ให้เด็กหญิงหูหนวก โดยการมีส่วนร่วมของแกนนำนักเรียน แกนนำผู้ปกครอง ล่ามภาษามือ และสถานศึกษา"นางภรณี กล่าว
ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เด็กหูหนวกจนถึงวัยรุ่น มีความสนใจเรื่องเพศและสุขภาวะทางเพศแต่ยังขาดสื่อที่สร้างความเข้าใจและเข้าถึงข้อจำกัดด้านหูหนวก ดังนั้น จึงร่วมกับ สสส. พัฒนา “สื่อใจวัยรุ่น” เป็นสื่อวีดีโอเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศที่ใช้ภาษามือเป็นหลัก จำนวน 4 คลิป ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น 2 เพศสัมพันธ์มีเมื่อพร้อม 3 เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย 4 ทุกปัญหามีทางออก เพื่อให้เด็กหูหนวกสามารถทำความเข้าใจเรื่องเพศเชิงบวกได้อย่างถูกต้อง เข้าใจง่าย นอกจากนี้ยังมีคู่มือในการใช้งานสื่อวิดีโอ หรือคลิป “สื่อใจวัยรุ่น” สำหรับครู หรือผู้ใหญ่ในการนำไปใช้สอน และทำความเข้าใจเรื่องเพศกับเด็กหญิงหูหนวก
นางนิราวรรณ ทองระอา อาจารย์โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชลบุรีในฐานะแกนนำครู กล่าวว่า หลังจากได้เข้าร่วมกระบวนการของโครงการฯ ทำให้มีความรู้เรื่องเพศเชิงบวกมากขึ้น เปลี่ยนความเชื่อ จากเดิมที่คอยห้ามปรามและลงโทษเด็กมาเป็นความเข้าใจ เปลี่ยนทัศนคติ ให้เป็นคนใจเย็นขึ้น ทำให้เด็กกล้าเข้ามาพูดคุยปรึกษาได้มากขึ้น พร้อมกับทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้เด็กเกิดการเรียนรู้เรื่องเพศเชิงบวกมากขึ้น โดยผ่านนักเรียนแกนนำ เพราะเด็กจะเชื่อใจกันมากกว่าครู ทั้งยังสนับสนุนให้กลุ่มนักเรียนแกนนำจัดกิจกรรมเรื่องเพศเชิงบวกให้แก่น้องๆ และเพื่อนนักเรียนหญิงหูหนวกในโรงเรียนได้