สปสช.คาด 1 ม.ค. 63 เริ่มให้บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัส
สปสช.เตรียมพร้อมสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนสัมผัส (PrEP) คาดเริ่มให้บริการได้ 1 ม.ค. 2563 ชี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีการบ้านให้ทำอีกมาก ทั้งการวิจัยประเมินผล รณรงค์สร้างความเข้าใจและสนับสนุนให้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างกว้างขวาง เชื่อกวาดกลุ่มเป้าหมายความเสี่ยงสูงได้ 2,000 รายตามเป้า
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวบรรยายหัวข้อ "นโยบายและสิทธิประโยชน์ทางการจัดบริการยาป้องกันการสัมผัสเชื้อเอชไอวี" ในงานสัมมนาติดตามความคืบหน้าของการให้บริการเพร็พในประเทศไทยเพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตําแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia-Pacific ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. มีมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 เห็นชอบปรับปรุงรายการสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัส (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) ซึ่งเบื้องต้นให้นำร่องในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ HIV จำนวน 2,000 ราย โดย สปสช.ตั้งใจว่าวันที่ 1 ม.ค. 2563 ที่จะถึงนี้ หน่วยบริการที่ลงทะเบียนน่าจะพร้อมให้บริการได้
นพ.รัฐพล กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ คณะกรรมการ สปสช.มีข้อห่วงใยและต้องการให้เป็นความยั่งยืนของระบบ โดย 1.ให้นำร่องแค่ 2,000 ราย และมีเงื่อนไขว่าต้องมีการวิจัยประเมินผลเพื่อติดตามปัจจัยความสำเร็จของผู้ติดเชื้อรายใหม่และการมีส่วนร่วมของเป้าหมาย 2.ต้องทำเรื่องการรณรงค์พฤติกรรมและมีการสนับสนุนให้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างกว้างขวาง เพราะยังมีข้อห่วงใยว่าจะทำให้การใช้ถุงยางอนามัยมีปัญหาหรือไม่ พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เช่น มี PrEP แล้วความรู้สึกของผู้รับบริการอาจรู้สึกว่ามีอะไรก็ได้เพราะมียาป้องกันแล้ว และ 3.ต้องมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ PrEP และประสิทธิภาพการป้องกัน
"เพราะฉะนั้นการบ้านใหญ่ๆนอกจากเรื่อง PrEP แล้วก็คือการรณรงค์เรื่องถุงยางอนามัย เรายังมีช่องว่างเรื่องถุงยางอนามัยประมาณ 100 ล้านชิ้น สปสช.และกรมควบคุมโรคสนับสนุนถุงยางอนามัยประมาณ 30-40 ล้านชิ้น มีถุงยางที่ผลิตขายในเชิงพาณิชย์อีก 70 ล้านชิ้น แต่มีความต้องการประมาณ 200 ล้านชิ้น ก็เป็นการบ้านว่าตัวเลขนี้ใช่หรือไม่และจะทำอย่างไรกับตัวเลขนี้ รวมทั้งเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องเพราะเมื่อไหร่ที่ประกาศว่า PrEP เป็นสิทธิประโยชน์ คนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงจะเดินเข้ามาหาแล้วเราจะให้ PrEP หรือไม่ ถ้าจะให้คนทั้ง 45 ล้านคน งบประมาณไม่เพียงพอแน่นอน แต่อย่างน้อยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง 1.5 แสนคน ควรเข้าถึง PrEP และต้องมีระบบติดตามประเมินผลที่เข้มแข็ง
สำหรับสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัสนี้ จะประกอบด้วย 1.ยา Tenofovir และ Emtricitabine 2.Initial PrEP Counseling and Education 1 ครั้ง/ปี 3.Additional HIV test 4ครั้ง/ปี 4.Creatinine 2 ครั้ง/ปี 5.HBs profile (Ag) 1 ครั้ง/ปี 6.การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 2 ครั้ง/ปี 7.Pregnancy test for women 1 ครั้ง/ปี 8. Maintenance support (counseling) 5 ครั้ง/ปี และ 9.ถุงยางอนามัย ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือว่าจะแจกอย่างไรให้เหมาะสมกับกลุ่มเสี่ยงแต่ละกลุ่ม
นพ.รัฐพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่และหน่วยบริการที่จะนำร่องให้บริการ PrEP ในปี 2563 จะคัดเลือกโดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค จำนวน 51 แห่งใน 21 จังหวัด โดยหลักเกณฑ์คือต้องเป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช. ต้องเป็นหน่วยบริการที่เคยให้บริการ PrEP ต้องมีความพร้อมในการให้บริการทั้งด้านบุคลากรและระบบบริการ โดย สปสช.จะใช้ขั้นตอนในการปฏิบัติงานของกรมควบคุมโรคคือขอให้เป็น Daily PrEP ก่อน และจะเปิดลงทะเบียนหน่วยบริการรอบเดียวในต้นปีงบประมาณ 2563 หรือหากจำเป็นต้องเพิ่มหน่วยบริการจะพิจารณาอีกครั้งกลางปีงบประมาณ
"ในเรื่องของ PrEP กำลังเริ่มต้น เรามีความตั้งใจจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ความยากไม่ได้อยู่ที่ PrEP แต่ยากตรงการติดตาม ซึ่งอาจมีหลุดไปบ้าง หรือมีช่องว่างอื่นๆ เช่น เวลาแจ้งผลเราไม่ได้ประเมินพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งอาจต้องพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการเพื่อให้ติดตามได้ หรือนโยบายบอกว่า 2,000 รายแต่มาเกินแบบนี้ก็เป็นช่องว่าง หรือถ้ากลุ่มเป้าหมายมีการย้ายที่อยู่ ข้อมูลของหน่วยบริการก็ต้องเชื่อมโยงถึงกันได้ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นความยากในการออกแบบระบบ รวมทั้งประเด็นการวิจัยประเมินผลว่าใช้ PrEP แล้วจะทำให้การใช้ถุงยางอนามัยจะลดลงหรือไม่ การทานยาของคนไข้เป็นอย่างไร และกลุ่มเป้าหมาย 2,000 รายจะทำได้หรือไม่ แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นตัวเลขที่ทำได้" นพ.รัฐพล กล่าว