สอวช.เร่งผลิตกำลังคนรองรับการลงทุน ดึงมหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชนร่วมขับเคลื่อน
สอวช. รับลูก ครม.ศก. เร่งผลิตกำลังคนรองรับการลงทุน เดินเครื่องลิสต์ทักษะที่จำเป็นในอนาคต ดึงมหาวิทยาลัย สถาบันอบรมรัฐ – เอกชน ขึ้นทะเบียนคลอดหลักสูตร ชวนสถานประกอบการส่งบุคลากรร่วมอบรม พร้อมให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 2.5 เท่า
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2562 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถ.ศรีอยุธยา – ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบนโยบายในการประชุมหารือเรื่อง การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา โดยการประชุมหารือในครั้งนี้มีการนำเสนอนโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคน โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง ประธานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเชิญมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาประชุมเพื่อรับทราบนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในครั้งนี้ เพื่อเป็นการให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้รับทราบความต้องการกำลังคนของตลาดและพิจารณาสัดส่วนการผลิตกำลังคนในปัจจุบันว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องปรับอย่างไร หลักสูตรเดิมสามารถคงอยู่ได้ แต่ต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็ต้องเข้ามาร่วมผลิตกำลังคนร่วมกับมหาวิทยาลัย พูดคุยกันว่ามีความต้องการอย่างไร และมีแนวทางผลิตร่วมกันอย่างไร โดยมีบีโอไอ ช่วยดูแลสิทธิประโยชน์ทางภาษี กำลังคนที่ผลิตออกมาจะได้ตอบโจทย์ได้ตรงเป้า และขอมอบหมายให้ ทปอ. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในการผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ
“หลายมหาวิทยาลัยมีทรัพยากร มีหลักสูตรพร้อม แต่ต้องดูว่าตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่ บุคลากรที่ผลิตออกมามีคุณภาพสามารถใช้ได้ทันต่อความต้องการหรือไม่ ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้เชิญภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะจะได้รู้ความต้องการอย่างแท้จริง สิ่งที่เราทุกคนต้องทำในวันนี้คือ ตอนนี้ประเทศเรามีความต้องการกำลังคนเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการผลิตกำลังคนเท่าไหร่เพียงพอหรือไม่ และต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนอย่างไร และนำทุกอย่างมาแมชชิ่งกัน เพื่อจะได้การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ หรือ Manpower Planning ใน 5 ปี” ดร.สมคิด กล่าว
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะการตอบโจทย์ให้ทันต่อความต้องการเร่งด่วนด้านการลงทุน ซึ่งการรอกำลังคนที่จบวุฒิปริญญาจะไม่ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดจนทักษะที่ได้จากวุฒิการศึกษาอาจตอบโจทย์ได้ไม่ครอบคลุมต่อความต้องการของสถานประกอบการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแล และพัฒนากำลังคน จึงมีนโยบายในการพัฒนากำลังคนกลุ่ม Non-Degree เพื่อเป็นการ Upskill, Reskill รองรับการลงทุน เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพสูง 100,000 คน ที่พร้อมสำหรับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่อีอีซี นอกพื้นที่อีอีซี ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรม S-curve และอุตสาหกรรม BCG ทั้งนี้ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3 ที่ประชุมได้มอบหมายให้ อว. และ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำหนดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมาย เพื่อให้ภาคเอกชนขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2.5 เท่า โดยต้องเป็นหลักสูตรที่ อว. และ อีอีซีรับรอง และต้องไม่ซ้ำกับมาตรการสิทธิประโยชน์ภาษี 2 เท่าที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ มาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 31 ธ.ค. 63 แต่ไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมให้เสร็จภายในปี 63
“หลังจากที่ อว. ได้รับมอบหมายให้กำหนดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมาย เพื่อให้ภาคเอกชนขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้นั้น ทาง สอวช. อยู่ระหว่างเร่งมือในการจัดทำรายละเอียดทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skill List) โดยจัดทำรายละเอียดทั้งในส่วนตำแหน่งงาน และสมรรถนะ คุณลักษณะที่จำเป็น (Competency) ของตำแหน่งงานนั้นๆ โดยเมื่อจัดทำรายละเอียดเสร็จ ก็จะมีการเปิดรับหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่สามารถจัดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมายตามที่กำหนดมาลงทะเบียนยื่นคำขอ เพื่อให้ อว. พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงาน RTO (Registered Training Org.) และรับรองหลักสูตร เมื่อสถานประกอบการส่งบุคลากรมาอบรมหลักสูตรตามที่ได้รับการรับรอง สถานประกอบการสามารถขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายฝึกอบรมได้ 2.5 เท่า จากกรมสรรพากร ส่วนสถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างงานใหม่บุคลากรทักษะสูงด้าน STEM ก็สามารถแจ้งตำแหน่งงาน และโปรไฟล์บุคลากรที่ต้องการจ้างงานมายัง อว. เพื่อพิจารณารับรอง และเมื่อรับรองแล้วสถานประกอบการสามารถขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายการจ้างงานใหม่บุคลากรทักษะสูงด้าน STEM ได้ 1.5 เท่า จากกรมสรรพากร โดยการดำเนินงานลักษณะนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการ Upskill Reskill ให้กับบุคลากรบริษัทให้มีสมรรถภาพในการทำงานที่ตอบโจทย์ตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และยังเป็นแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับแนวทางในการพัฒนากำลังคนกลุ่ม Non-Degree เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในอนาคตนอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาเพื่อปริญญา โดย สอวช. มีแนวคิดในการจัดทำเป็น Sandbox ในลักษณะการพัฒนากำลังคนตามความต้องการ (Customized choices) โดยมีสถานประกอบการและมหาวิทยาลัยร่วมกับพัฒนาโมดูล/หลักสูตร และเสนอให้ อว. พิจารณารับรอง ซึ่งสถานประกอบการ หรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรใดที่ได้รับการรับรองได้ และยังสามารถสะสมหน่วยกิต (credit bank) ตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อขอรับปริญญาได้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าว อยู่ระหว่างการขึ้นรูป ซึ่งต้องคำนึงถึงกลไกต่างๆ ที่จะเข้ามารองรับ ทั้งระบบสะสมหน่วยกิต (credit bank) ระบบรับรองหน่วยงาน/หลักสูตรฝึกอบรม และระบบเงินสมทบสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้เสนอแนวคิดดำเนินการเพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ อาทิ โครงการ Reskill/Upskill สำหรับบุคลากร SME และผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ที่จะสนับสนุนในรูปแบบ Training Coupon ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งบุคลากร SME และผู้ประกอบการอาชีพอิสระสามารถขอรับ Training Coupon ซึ่งเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการอบรมได้จาก บพค. เพื่อใช้ในการเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอบรมที่ได้รับการรับรองจาก อว. ซึ่งมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอบรมก็จะได้รับเงินสนับสนุนจาก อว. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โครงการส่งเสริม Corporate Academy โครงการที่ส่งเสริมให้สถานประกอบการโดยเฉพาะสถานประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกิด Academy ในสถานประกอบการ โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในการดำเนินโครงการด้านนวัตกรรม และเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้สามารถสร้างนวัตกรรมจากภายในองค์กรได้ โดยมี บีโอไอ เป็นหน่วยงานที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่หน่วยงานที่มี Academy ในสถานประกอบการ และ อว. มีหน้าที่ในการอุดหนุนหลักสูตรผ่านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายหลักสูตรอบรมส่วนหนึ่งให้มหาวิทยาลัยที่ทำงานร่วมกับ Academy
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศข้างต้น อว. ไม่สามารถขับเคลื่อนเพียงหน่วยงานเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สกสว. ที่จะช่วยดูแลในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน สวทช. ที่จะช่วยทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ บีโอไอ หน่วยงานที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมและการบริหารจัดการสำหรับการสร้างทักษะการบริหารจัดการโครงการนวัตกรรม และภาคการศึกษา ที่ทำหน้าที่จัดระบบการศึกษาที่สอดคล้องต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยจะมี สอวช. ทำหน้าที่ในการพัฒนาโครงการนำร่องและเสนอนโยบาย
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ดร.กิติพงค์ ได้นำเสนอประเด็นสำคัญ เรื่อง นโยบายการบริหารงานวิจัย ในการประชุมหารือแนวทางการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศและการปฏิรูปอุดมศึกษา ร่วมกับ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่นำเสนอในประเด็น การจัดสรรงบประมาณงานวิจัยและการบริหารงบประมาณด้าน ววน. ผ่าน Program Management Unit และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่นำเสนอในประเด็น แนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยของ วช. โดยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการ อว. มอบนโยบาย และมีอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพาลาเดียมฮอล เอ ชั้น 11 โรงแรม The Berkeley Hotel Pratunam โดย ดร.กิติพงค์ เปิดเผยถึงข้อมูลตัวเลขงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2563 ว่า อว. ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 24,945 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นการจัดสรรงบประมาณเข้าตรงหน่วยงาน 50% แบ่งเป็น ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงไปยังหน่วยงานในระบบ ววน. จำนวน 4,700 ล้านบาท ยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมที่งบประมาณส่งตรงไปที่หน่วยงานในระบบ ววน. 7,741 ล้านบาท และเป็นการจัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีก 50% หรือคิดเป็น 12,555 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่เข้ากองทุนนี้ จะแบ่งเป็นงบประมาณที่ผ่านกองทุนและส่งไปยังหน่วยงานในระบบ ววน. 4,171 ล้านบาท และงบประมาณผ่านกองทุนสำหรับโครงการ Flagship ที่จะมีหน่วยบริหารทุนด้านต่างๆ ดูแลอีกจำนวน 8,384 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการ Flagship ปี 2563 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 8,384 ล้านบาทนั้น จำแนกได้ตาม 5 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และ 5. การปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)
นอกจากนี้ ได้เปิดเผยถึง 3 หน่วยบริหารและจัดการทุนใหม่ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีมติให้จัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านภายใต้สภานโยบายขึ้นอีก 3 หน่วย ใน สอวช. ประกอบด้วย หน่วยด้านการพัฒนาด้านกำลังคน ที่จะเรียกว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะเรียกว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และหน่วยด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มุ่งเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก ที่จะเรียกว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)