โดน สตง.-ป.ป.ช.ทวงประกวดราคา! เบื้องลึก รฟท.เจาะจงจ้าง 'ปุ้มปุ้ย' บริการอาหาร 3 ปี 7 ส.
"...ในช่วงเดือน ก.ย. และ พ.ย. 2560 รฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขที่ข้อแนะนำของ สตง. และได้ส่งหนังสือถาม สตง. กลับไปอีกครั้งว่า การจ้างดังกล่าวสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ ก่อนที่จะได้รับคำตอบชี้แจง ตอบกลับจาก สตง. ในช่วงเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2560 ว่า เมื่อ รฟท. ได้มีการประกาศเผยแพร่ข้อมูลราคากลางพร้อมกับประกาศเชิญชวน และได้แก้ไขการเปิดเผยราคากลางเป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ก็ควรพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ปี 2559-2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนรายเดียวเข้ามารับโครงการจ้างจัดบริการอาหารและเครื่องดื่มและพนักงานบริการบนขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศ จำนวน 7 สัญญา รวมวงเงินกว่า 76 ล้านบาท คือ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารกระป๋อง ภายใต้เครื่องหมายการค้า ปุ้มปุ้ย และ ปลายิ้ม โดยใช้วิธีเจาะจงเลือกเอกชนรายนี้ เข้ามาเป็นคู่สัญญารับงาน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินงานดังกล่าว เป็นลักษณะการแบ่งซอยสัญญางานหรือไม่
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ได้รับงานว่าจ้างจัดบริการอาหารและเครื่องดื่มและพนักงานบริการบนขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศของรฟท. จำนวนหลายสัญญา เป็นเพราะในช่วงที่สัญญาว่าจ้างบริการฯ ครั้งล่าสุดปี 2556 ซึ่งใช้วิธีประกวดราคา สิ้นสุดสัญญาลงในปี 2559 รฟท. ได้เปิดโครงการประกวดราคาจ้างครั้งใหม่ ระยะเวลาสัญญา 3 ปี ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย แต่ รฟท. ได้ยกเลิกโครงการประกวดราคาดังกล่าว เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้น
จากนั้น รฟท. ได้ส่งหนังสือมาที่บริษัทฯ สอบถามว่า สนใจที่จะทำสัญญาจ้างระยะสั้นในช่วงรอยต่อของสัญญาหลักหรือไม่ ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้ตอบรับกลับไป และได้ทำสัญญาจ้างดังกล่าว อีกทั้ง ได้ต่อสัญญาเรื่อยมาหลายสัญญา เนื่องจาก รฟท. ยังไม่สามารถจัดประกวดราคาสัญญาหลักได้ (อ่านประกอบ : เปิดข้อมูล รฟท. เจาะจงจ้าง บ.ปุ้มปุ้ย บริการอาหารรถไฟ 3 ปี ติด 7 สัญญารวด 76 ล.)
ล่าสุด นายสุภัทร์ วรวัฒนนุทัย รองผู้อำนวยการฝ่ายด้านปฏิบัติการ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริการโดยสาร การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ ระบุว่า เหตุผลที่ รฟท. ต้องจัดซื้อจัดจ้าง บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) แบบเฉพาะเจาะจงหลายสัญญาต่อเนื่อง เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างระยะเวลา 3 ปี โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ E-Auction ที่ รฟท. ทำตั้งแต่ 16 ส.ค. 2556 กับบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างฯ ในราคากลาง 56.75 บาท/คน(ผู้โดยสาร) จะหมดสัญญาลงในวันที่ 31 ก.ค. 2559
รฟท. จึงได้เริ่มดำเนินการทำโครงการครั้งใหม่ โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ E-Auction ราคากลาง 80 บาท/คน มีเอกชนยื่นเสนอเข้ามา 3 ราย
แต่ต่อมาได้ประกาศยกเลิก เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2559 เนื่องจากไม่มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค
เมื่อยังไม่ได้คู่สัญญารายใหม่ในโครงการจ้างดังกล่าว และสัญญาเดิมที่หมดลงตั้งแต่ ก.ค. 2559 ทำให้ รฟท. จำเป็นต้องจ้างในช่วงรอยต่อ ซึ่งตามกฎหมายสามารถทำได้ โดยให้เจรจากับผู้รับจ้างรายเดิม (บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างฯ) จ้างวิธีเฉพาะเจาะจง โดยใช้ราคาตามสัญญาเดิมคือ 56.75 บาท/คน ระยะเวลาสัญญา 3-4 เดือน เพื่อรอคู่สัญญาเจ้าใหม่ที่จะมาจากโครงการจ้างระยะเวลา 3 ปี
จากนั้น เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2560 รฟท. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ E-Auction ครั้งใหม่ และดำเนินการเรื่อยมาจนได้ผู้ชนะการเสนอราคาแล้ว คือ บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างฯ ซึ่งเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติและเทคนิคเพียงรายเดียว โดยเสนอราคาที่ 72.47 บาท/คน
แต่ในการดำเนินดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าตรวจสอบโครงการและมีข้อตรวจพบว่า รฟท. ไม่ได้เปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางให้เป็นไปตามแบบฟอร์มที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เบื้องต้น ในช่วงเดือน ก.ย. และ พ.ย. 2560 รฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขที่ข้อแนะนำของ สตง. และได้ส่งหนังสือถาม สตง. กลับไปอีกครั้งว่า การจ้างดังกล่าวสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ ก่อนที่จะได้รับคำตอบชี้แจง ตอบกลับจาก สตง. ในช่วงเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2560 ว่า เมื่อ รฟท. ได้มีการประกาศเผยแพร่ข้อมูลราคากลางพร้อมกับประกาศเชิญชวน และได้แก้ไขการเปิดเผยราคากลางเป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ก็ควรพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
หาก รฟท. ยังไม่มีความชัดเจนกรณีการเปิดเผยราคากลาง เห็นสมควรหารือไปยังกรมบัญชีกลางต่อไป
ดังนั้น ในช่วงเดือน พ.ย. 2560 รฟท. จึงได้ส่งหนังสือหารือกรมบัญชีกลางว่า สามารถดำเนินการจ้างต่อไปได้หรือไม่
ต่อมาในช่วงเดือน ก.พ. 2561 กรมบัญชีกลาง ได้ตอบชี้แจงกลับมาว่า การเปิดเผยราคากลางและการประกาศรายละเอียดการคำนวณราคากลางตามแนวทางที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด กระทรวงการคลังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติ เพียงแต่แจ้งเวียนซ้อมทำความเข้าใจเรื่องการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ กรณีตามข้อหารือจึงอยู่ในอำนาจของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่จะเป็นผู้พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ได้กำหนดคู่มือ
ในช่วงเดือน ก.พ. 2561 รฟท. จึงได้ส่งหนังสือหารือสำนักงาน ป.ป.ช. ว่าสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ ต่อมาเดือน มี.ค. 2561 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตอบชี้แจงว่า การแก้ไขประกาศเปิดเผยราคากลางของ รฟม. ดังกล่าว ล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดให้ประกาศแล้ว จึงเป็นประกาศเปิดเผยราคากลางที่ไม่ถูกต้อง
ส่วนการพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป อยู่ในดุลยพินิจของ รฟท. ที่จะพิจารณาดำเนินการตามระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ
กระทั่งช่วงเดือน ก.พ. 2562 นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงให้ออกประกาศ รฟท. ยกเลิกการประกวด E-Auction ดังกล่าว เนื่องจาก เมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาการยื่นเอกสารประกวดราคา ปรากฏว่ามีผู้ยื่นเอกสารเพียงรายเดียว
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ รฟท. จำเป็นต้องทำสัญญาแบบเฉพาะเจาะจงระยะสั้นจำนวนหลายสัญญากับ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) โดยใช้ราคาจ้างเดิมตามสัญญาในปี 2556 ที่ 56.75 บาท/คน ในช่วงที่ยังไม่สามารถดำเนินโครงการจ้างแบบประกวดราคา ระยะเวลา 3 ปีได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน รฟท. ได้จัดทำโครงการจ้างโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ E-bidding ขึ้นใหม่ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติลงนามประกาศเชิญชวน คาดว่า อีกประมาณ 1 สัปดาห์จะออกประกาศเชิญชวนได้
และหากไม่มีปัญหาอะไร อีกประมาณ 2 เดือนหลังจากนั้น คาดว่าจะได้ลงนามเอกชนคู่สัญญา ซึ่งจะเป็นสัญญาระยะเวลา 3 ปี ราคากลาง 80 บาท/คน งบประมาณ 199 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
เปิดข้อมูล รฟท. เจาะจงจ้าง บ.ปุ้มปุ้ย บริการอาหารรถไฟ 3 ปี ติด 7 สัญญารวด 76 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพรถไฟจาก : วิกิพีเดีย