15 ปีตากใบ...ญาติเหยื่อภาวนาอย่าตายก่อนใต้สงบ
"เราไม่เคยลืม ทุกอย่างยังอยู่ในใจ ทำบุญให้พวกเขาตลอด ทุกค่ำวันศุกร์ก็จะไปกุโบร์ (สุสาน) เมื่อครบรอบเดือนตุลาคมที่เกิดเหตุก็ทำบุญ ละหมาดฮายัตกันทุกปี ปีนี้ก็จะทำเหมือนเดิม"
เป็นสุ้มเสียงของ มือแย โสะ วัย 60 ปี แม่ของลูกชายวัย 19 ปีที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือ 15 ปีที่แล้ว
แม้ มือแย จะพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังที่บอกถึงความตั้งใจในการทำบุญเพื่อรำลึกถึงลูกชาย แต่สายตาของนางก็อ่อนล้าด้วยวัยและความท้อแท้ที่เกาะกินความรู้สึก โดยเฉพาะเมื่อถูกถามถึงเรื่องราวความสูญเสียแต่หนหลัง
ย้อนกลับไปช่วงเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่หน้าโรงพัก สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีชาวบ้านไปรวมตัวชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.จำนวน 6 คนที่ถูกทางการจับกุมตัว เพราะปล่อยปละละเลยให้ปืนของทางราชการถูกปล้นตามที่มีการคาดโทษไว้
ชาวบ้านที่ไปรวมตัวตอนแรกนั้นไม่มาก แต่ภายหลังมีการบอกกันปากต่อปาก ทำให้มีคนแวะเวียนไปดูและร่วมสังเกตการณ์มากกว่า 1,000 คน จนทหารเคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อม ทำให้คนที่ไปรวมตัวกันออกจากพื้นที่ไม่ได้ จากนั้นก็มีกระสุนปริศนาดังขึ้น จนเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุม
มีการบังคับให้ผู้ชุมนุมทุกคนหมอบราบลงกับพื้น แยกผู้หญิงออกจากพื้นที่ ส่วนผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ นำไปมัดมือไพล่หลัง กวาดจับได้กว่า 1,370 คน แล้วลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีเกือบ 30 คัน รวมถึงรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง โดยจัดเรียงให้แต่ละคนนอนคว่ำซ้อนกันเป็นชั้นๆ เฉลี่ยคันหนึ่งมีคนนอนซ้อนกันคันละ 4-5 ชั้น แล้วเดินทางจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง
การเรียงซ้อนกันในรถยีเอ็มซีท่ามกลางอากาศร้อนและอยู่ในเดือนถือศีลอด ขาดน้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 85 คน เป็นการเสียชีวิตขณะลำเลียงขนส่ง 78 คน สียชีวิตในที่ชุมนุมระหว่างการสลายการชุมนุม 6 คน และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน ส่วนคนที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่งกลายเป็นคนพิการ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน
ผู้ชุนนุม 59 คนถูกระบุว่าเป็นแกนนำ ถูกฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนราธิวาสฐานชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย แต่ต่อมาในปี 2549 ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีนโยบายให้อัยการถอนฟ้อง เพื่อความปรองดองและยุติความขัดแย้ง
ส่วนคดีการเสียชีวิต มีการไต่สวนการตายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (กระบวนการก่อนการสอบสวนและส่งฟ้อง) เนื่องจากเป็นการตายระหว่างถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่กระทำการตามกฎหมาย โดยศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่าผู้ชุมนุม 78 คนเสียชีวิตเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" โดยยังไม่พบหลักฐานผู้อื่นกระทำให้ตาย ต่อมาพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีสิ้นสุดลง โดยที่ฝ่ายผู้เสียหายและครอบครัวไม่ได้ใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องเองต่อศาล กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลครั้งสำคัญของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดขึ้นมานานถึงทศวรรษครึ่ง
สำหรับในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บยื่นฟ้องเพื่อให้รัฐจ่ายเงินชดเชยเยียวยา คดีจบลงที่การประนีประนอมยอมความ โดยกระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย ต่อมาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ได้ประกาศจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายเพิ่มอีกให้ได้รายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 500,000 บาท
เมื่อใกล้ครบรอบวันแห่งโศกนาฏกรรม ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในครั้งนั้นจะรวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ พวกเขาไม่ได้ต้องการแก้แค้นหรือเอาคืน แต่หวังเพียงว่าเรื่องร้ายๆ จะไม่หวนคืนกลับมาอีก
"เรื่องราวผ่านมาแล้ว 15 ปี แต่เรายังนึกถึงอยู่เสมอ เราทำบุญและละหมาดกันเสมอ เมื่อถึงวันครบรอบเราก็ทำบุญในชุมชนและละหมาดเช่นกัน เพื่อระลึกถึงคนที่จากไป ส่งผลบุญให้พวกเขา ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเช่นนั้นอีก ทุกองค์กรก็จะถามกันมาทุกปีว่าจะทำบุญมั้ย เราตอบว่าทำทุกปี ปีนี้เราก็ทำบุญกันอีก" มือแย กล่าว
งานบุญนี้เป็นของชุมชนที่จัดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน องค์กรเอกชนต่างๆ ที่ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือกันทุกปี ชาวบ้านยินดีต้อนรับทุกคนทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมงาน
ขณะที่ แยนะ สะแลแม หรือ "ก๊ะแยนะ" ในฐานะอดีตแกนนำที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ แม้ปีนี้นางจะอายุกว่า 60 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีรอยยิ้มและความคิด ความตั้งใจเฉกเช่นเมื่อ 15 ปีที่แล้วที่เคยต่อสู้มา ทั้งยังคงยืนยันทำในสิ่งที่ถูกต้องจนกว่าจะหมดแรง
ในเหตุการณ์ตากใบ ลูกชายของ ก๊ะแยนะ เป็น 1 ใน 58 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวโจก ก๊ะแยนะพยายามต่อสู้ให้ลูกได้รับความเป็นธรรมและพิสูจน์ว่าลูกชายของนางไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา นางไปศาลทุกนัด และด้วยความที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้เข้าใจกว่าคนอื่นๆ ผู้พิพากษาจึงขอให้นางเป็นผู้ประสานงานชาวบ้านคนอื่นๆ ที่โดนคดีด้วย จวบจนปิดคดี
เมื่อถึงคราวที่ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องแพ่ง และไม่มีคนประสานงาน ทนายความก็ให้ ก๊ะแยนะ ช่วยต่อ จนสามารถประสานงานให้ได้รับการเยียวยาสูงสุดรายละ 7.5 ล้านบาท ซึ่งมีการจ่ายเงินงวดแรก 3.5 ล้านบาท ปีต่อมาปีละ 1 ล้านบาทอีก 4 ปีจนครบ 7.5 ล้าน
แต่เรื่องที่น่าเสียใจก็คือ ผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาหลายรายไม่ยอมวางแผนการใช้จ่าย ทำให้ไม่กี่ปีพวกเขาเหล่านั้นกลับมาเป็นคนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีจะกิน เพราะเมื่อมีเงินเยอะใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย อยากได้และซื้อแต่สิ่งของที่ไม่จำเป็น
"ครอบครัวที่เห็นคุณค่าของเงิน จะนำเงินที่ได้รับไปต่อยอด เช่น ซื้อที่ดิน สวนยาง สร้างบ้าน ซื้อรถที่ใช้ประกอบอาชีพ และต่อยอดค้าขาย ทำให้ยังคงมีเงินหมุนเวียนและไม่สูญไปเปล่าๆ ส่วนก๊ะเองไม่มีส่วนได้เสียอะไรกับเงินเหล่านี้ นอกจากได้รับการชดเชยรายวันของลูกที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น" ก๊ะแยนะ กล่าว
ส่วนการจัดงานบุญอุทิศให้กับผู้สูญเสีย แม้จะจัดขึ้นทุกปี แต่ก็ไม่วายถูกเจ้าหน้าที่รัฐถามทุกปีเช่นกัน โดยมองว่าเป็นการรื้อฟื้นเรื่องที่จบไปแล้ว
"ถ้ามาถามก๊ะ ก๊ะก็จะตอบว่าหากเป็นลูกหลานของเจ้าหน้าที่ที่ถูกกระทำหรืออยู่ในเหตุร้ายนั้นเอง คงไม่ต้องมาถามถึงเช่นนี้ เราจัดงานทำบุญและละหมาฮายัตเพื่อผู้ล่วงลับมาทุกปี ไม่ใช่การรื้อฟื้นหรือจะแก้แค้นอะไร ทุกคนไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก อยากให้บ้านเรามีแต่ความสุขและสงบ เราชวนคนมาร่วมงานและทำบุญ ยินดีต้อนรับทุกคนทุกหน่วยงานเพราะเราจริงใจ ไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆ ในการจัดงาน และใครจะมาห้ามเราไม่ได้ที่เราจะทำบุญเช่นนี้"
แต่สิ่งที่ ก๊ะแยนะ กังวลที่สุด คือความกลัวและความหวาดระแวงที่ยังปกคลุม เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เคยไว้ใจชาวบ้านที่เคยมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นี้ ยังคงมีคนถูกเรียกตัวไปอบรม ยังระแวงว่าเป็นแนวร่วม แม้บางคนจะพิการและบาดเจ็บทั้งกายและใจก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกิดเหตุระเบิดหรือเหตุร้ายที่ไหน บุคคลเหล่านี้คือกลุ่มแรกที่ถูกเพ่งเล็งและสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุก่อน จึงทำให้ความหวาดกลัวยังคงปกคลุมอยู่จนทุกวันนี้
"ความคิดของเจ้าหน้าที่ทำให้เราคิดว่าทำไมเขาถึงระแวงไปได้ขนาดนั้น ที่อื่น ประเทศอื่นเขาเกิดความไม่สงบมาเป็นเวลา 20-30 ปี พูดคุยกันจนสงบแล้ว บ้านเรามีมา 15 ปี ยังมองไม่เห็นแววสงบ เมื่อเกิดเหตุก็ไม่มีใครรับผิดชอบเลย ได้แต่ขอดุอาว่าอย่าให้ตายก่อนที่จะได้เห็นความสุขสงบของพื้นที่"
ความหวังของ ก๊ะแยนะ จะเป็นความจริงหรือแค่ฝันลมๆ แล้งๆ ยังคงเหมือนหนังเรื่องยาวที่ต้องรอดูกันต่อไป...
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ก๊ะแยนะ (ขวา) มือแย