กสม.หนุนศาลฎีกาเร่งไฟเขียวศาลเปิดให้ประกันตัวผู้ต้องหาในวันหยุด
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์ข่าว กสม. หนุนประธานศาลฎีกาเร่งไฟเขียวศาลเปิดให้ประกันตัวผู้ต้องหาในวันหยุดเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะรักษาการประธาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีประธานศาลฎีกามีดำริที่จะให้ศาลเปิดพิจารณาการขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการว่า กสม. ขอชื่นชมประธานศาลฎีกาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในเรื่องการจะพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยให้มีความสะดวก รวดเร็ว มีความเสมอภาค นับเป็นการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมอีกระดับหนึ่ง และอยากให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในเร็ววัน หลังจากก่อนหน้านี้มีการออกข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 กรณีให้ผ่อนปรนเงื่อนไขวงเงินประกันตัว
รักษาการประธาน กสม. กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (2) แต่ปัญหาที่ผ่านมาประการหนึ่งในเรื่องการประกันตัวเพื่อไปพิสูจน์ความถูกต้องถูกจำกัดด้วยเหตุติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เช่น คดีเช็ค เจ้าหนี้มักใช้ช่วงเวลาก่อนวันหยุดแจ้งความ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถประกันตัวได้ เนื่องจากติดวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ระบบกฎหมายไทยยังต้องมีการปฏิรูปรวมทั้งปรับปรุง พัฒนา แก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมา กสม. ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งการจัดสัมมนาระดับชาติเพื่อเผยแพร่หลักการและแนวคิดต่าง ๆ การลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อจัดทำหลักสูตรส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน การส่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ กสม. ไปให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุง เช่น ข้อเสนอให้ยกเลิกการตีตรวนผู้ต้องขัง การเร่งรัดหรือตรวจสอบการดำเนินคดีผู้ต้องหาหรือจำเลยมิให้ล่าช้า และปัจจุบัน กำลังพิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เป็นต้น
“เราทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะให้ทุกคนที่อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการสากล รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้ความสำคัญกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม” นางประกายรัตน์ กล่าว