ก้าวต่อไป หลังลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน
ทีมเอกชนร่วมลงทุนโครงการนี้ เราได้มาค่อนข้างครบ ซีพีนำพันธมิตรต่างประเทศที่เชี่ยวชาญโครงการนี้มาร่วมกัน ระบบรางซึ่งยาก มี CRCC มาช่วย ระบบวิ่งมี FS มาช่วย เราจึงแน่ใจสามารถทำงานได้ทั้งหมด
เป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ที่ภาคเอกชนร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP (Public -Private-Partnership) กับภาครัฐในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (อ่านประกอบ:เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66)
เรื่องของแผนงานหลังจากลงนามเรียบร้อยแล้วนั้น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุชัดว่า ในสัญญาแนบท้าย กำหนดเวลาไว้ค่อนข้างชัดเจน การวางแผนทุกระดับขั้นตอน ซึ่งต้องเริ่มก่อสร้างโดยเร็ว ภายใน 12 เดือน และที่สำคัญเกิน 24 เดือนไม่ได้
เรียกว่า "ยิ่งเร็วยิ่งดี"
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมท่าอากาศยานสำคัญของประเทศโดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นายศุภชัย ระบุว่า ช่วงแอร์พอร์ตลิงก์น่าจะเริ่มต้นได้เร็วที่สุด โดยจะมีการปรับปรุงเตรียมรับตัวรถไฟความเร็วสูง โดยช่วงที่ยากสุด คือ ช่วงดอนเมือง - พญาไท ส่วนช่วงที่ต้องอาศัยได้รับพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง และใช้เวลายาวที่สุด คือช่วงสุวรรณภูมิ ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา
"ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นเรื่องใหญ่ของทุกฝ่าย เราจะทำให้ตามกำหนดเวลา ไม่เกิน 12 เดือนต้องเริ่มก่อสร้าง ไม่เกิน 5 ปีต้องสร้างให้แล้วเสร็จ"
เรื่องแหล่งเงินกู้ โครงการฯ นี้มีทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิก) และธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน (ซีดีบี)
ขณะที่กลุ่มพันธมิตร จะเห็นชัดว่า กลุ่มอิตาเลี่ยนไทย และช.การช่าง มีความสามารถสูงมากในการก่อสร้างทางด้านโยธา ส่วน China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) มีความเชี่ยวชาญระบบรางรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนระบบต่างๆการบริหารรถไฟความเร็วสูง ทาง บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี หรือ FS ผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงจากอิตาลี เป็นผู้มาร่วมดำเนินการช่วงปฏิบัติการตอนนำระบบรถไฟขึ้น
กรณีพื้นที่ มักกะสัน นายศุภชัย ยังให้ข้อมูลถึงแผนงานว่า จะสร้างสถานี และโครงการอสังหาริมทรัพย์ คาดลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท บนพื้นที่ 2 ล้านตารางเมตรในการใช้สอย ซึ่งจะมีทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ที่เสนอไปมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเรื่องรถไฟให้กับการรถไฟฯ ด้วย
ประเด็นของการส่งมอบพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง ส่งทั้งที่ดินและส่วนที่มีโครงสร้างพื้นฐานนั้น นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ชี้ว่า เราแก้ปัญหาได้หมดแล้ว การส่งมอบพื้นที่เพื่อการก่อสร้างจะมีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งอัยการสูงสุด ได้เตือนไว้ตั้งแต่แรกว่า โครงการช้าทั้งหมดส่วนใหญ่ติดเรื่องการส่งมอบพื้นที่เพื่อการก่อสร้างช้า ฉะนั้น กพอ.จึงดึงเรื่องเข้ามาทำเอง ทำให้ได้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างจริงๆ พร้อมกำหนดระยะเวลาไว้อย่างชัดเจน
"ช่วงที่ยากสุดของโครงการฯ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง เป็นพื้นที่ในเมืองมีท่อต่างๆ มากมายไปหมด มีกำหนดส่งมอบพื้นที่ไว้ไม่เกิน 4 ปี แต่ทำให้ได้ภายใน2 ปี 3 เดือน ส่วนพื้นที่มักกะสัน หนีไม่พ้นเป็นศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูงในอนาคต"
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มองด้วยว่า ทีมเอกชนร่วมลงทุนโครงการนี้ เราได้มาค่อนข้างครบ ซีพีนำพันธมิตรต่างประเทศที่เชี่ยวชาญโครงการนี้มาร่วมกัน ระบบรางซึ่งยาก มี CRCC มาช่วย ระบบวิ่งมี FS มาช่วย เราจึงแน่ใจสามารถทำงานได้ทั้งหมด หากส่งพื้นที่ทัน
"การทำ PPP ขอให้ทำใจเป็นกลาง ไม่ใช่รัฐบาลเอาเงินไปจ้างเอกชนทำ แต่เป็นการร่วมทุน ความเสี่ยงจึงต้องรับร่วมกัน การส่งพื้นที่ก็คือความเสี่ยง รัฐบาลก็เข้าไปช่วยทำ เราเอาปัญหามาอยู่บนโต๊ะและแก้ปัญหาร่วมกัน"
สุดท้ายนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า วันนี้มีพื้นที่ที่ทยอยมอบได้ แต่ท้ายสุด เราต้องทยอยส่งมอบพื้นที่พร้อมการก่อสร้างให้ได้ พื้นที่ไหนมีปัญหาต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง การรื้อย้ายมีเทคนิคมาก
"วันนี้เราปิดปัญหาให้เหลือน้อยที่สุดแล้ว พยายามปิดความเสี่ยง เรื่องของการเวนคืน กฤษฎีกาส่งมาแล้ว เตรียมนำเข้าคณะรัฐมนตรีครั้งหน้า" นายวรวุฒิ กล่าว พร้อมกับเห็นว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การก่อสร้างเราทำเองได้หมด สิ่งที่เราทำไม่ได้ ไม่สามารถทำได้เอง คือ ระบบเทคโนโลยีการควบคุมการเดินรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำอย่างไรให้เร็ว ไม่ร้อน และหยุดได้ ซึ่งเราจะได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้
อ่านประกอบ:ปิดจ็อบ เซ็นสัญญารถไฟ 3 สนามบิน
ช่วยกันเข็นให้เต็มสปีด รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/