ล้วง 3 ปัจจัยทำ อนค.ปราชัยเขต 5 นครปฐม-เบื้องหลัง‘บ้านใหญ่’คัมแบ็ก?
“…ด้วยบารมี-คอนเน็คชั่นระหว่าง ‘บ้านใหญ่’ และพรรคเพื่อไทย-เครือข่ายที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จึงไม่แปลกใจนัก ในการเลือกตั้ง 23 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ฐานเสียง ‘นายใหญ่’ อาจกลับลำเมินจากพรรคอนาคตใหม่และเทคะแนนให้ ‘บ้านใหญ่’ ก็เป็นไปได้…”
ผลการเลือกตั้งใหม่ ส.ส.เขต 5 จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา แทนตำแหน่ง ส.ส. ที่ว่างลง ทำให้นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ พี่คนโตแห่ง ‘บ้านใหญ่’ คัมแบ็กกลับมาเป็น ส.ส. อีกครั้ง หลังจากพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 แบบหลุดลุ่ย
โดยผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า นายเผดิมชัย ผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนนนอนมาเป็นอันดับ 1 จำนวน 37,675 คะแนน ส่วนอันดับ 2 นายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร สามีนางจุมพิตา ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้ 28,216 คะแนน ห่างจากนายเผดิมชัย 9,459 คะแนน ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ นายสุรชัย อนุตรโต ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไป 18,425 คะแนน
ทั้งนี้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 อันดับ 1 นางจุมพิตา จันทรขจร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ภรรยานายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ครั้งนี้) 34,164 คะแนน อันดับ 2 นายสุรชัย อนุตรโต ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 18,970 คะแนน อับดับ 3 นายระวัง เนตรโพธิ์แก้ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 18,741 คะแนน ขณะที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ตกเป็นอยู่อันดับที่ 4 ได้ 12,279 คะแนน
ปัจจัยอะไรทำให้ นายเผดิมชัย กลับมาคว้าชัยชนะ แทนที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นผู้ชนะเมื่อ 8 เดือนก่อน ?
ผลคะแนนเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2562 เทียบกับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562
จากตารางจะเห็นได้ว่า ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 คะแนนจากผู้สมัครจากพรรคที่เตรียมจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันอย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา (นายเผดิมชัย) และพรรคพลังประชารัฐ (นายระวัง) มีคะแนนรวมกัน 31,020 คะแนน ส่วน น.ส.จุมพิตา ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) ได้รับคะแนนเสียงสูงถึง 34,164 คะแนนเลยทีเดียว
ประเด็นที่น่าสนใจ 8 เดือนถัดมาในการเลือกตั้ง 23 ต.ค. 2562 พรรคพลังประชารัฐยอมหลบฉากให้ฝ่ายร่วมรัฐบาลส่งผู้สมัคร ส.ส. แทน โดยพรรคชาติไทยพัฒนา ส่งนายเผดิมชัย ผู้สมัครเดิม และมีฐานเสียง-บารมีในพื้นที่ จ.นครปฐม มายาวนานลงอีกครั้ง หวัง ‘ล้างตา’ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมหลีกทางให้ ทำให้ 2 พรรคร่วมรัฐบาลต้องส่งผู้สมัครตัดคะแนนกันเอง ทำให้พรรคอนาคตใหม่ที่พรรคเพื่อไทยยอมหลีกทางให้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นผู้คว้าชัยชนะอีกครั้ง
แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด เมื่อดูผลการเลือกตั้ง 23 ต.ค. 2562 นายเผดิมชัย ได้คะแนนสูงถึง 37,675 คะแนน หมายความว่า คะแนนจากฝั่งพรรคพลังประชารัฐเทมาให้กับนายเผดิมชัยทั้งหมด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนไม่ต่างกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มากนัก คือประมาณ 1.8 หมื่น
หากประเมินว่าคะแนนเดิม (ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 )ที่พรรคพลังประชารัฐเทมาให้นายเผดิมชัย 18,741 คะแนน รวมกับคะแนนเดิมของนายเผดิมชัย 12,279 คะแนน จะได้รวม 31,020 คะแนนเท่านั้น แต่คราวนี้นายเผดิมชัย ได้คะแนนถึง 37,675 คะแนน ได้มากกว่าเดิม 6,655 คะแนน ขณะที่คะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่เดิม 34,164 คะแนน แต่คราวนี้ได้ 28,216 คะแนน หดหายไป 5,948 คะแนน
คะแนนที่ลดลงของพรรคอนาคตใหม่ หายไปไหน ?
หนึ่ง ฐานเสียง ‘นายใหญ่’ กลับลำเทคะแนนให้ ‘บ้านใหญ่’ ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าของพื้นที่เดิม จ.นครปฐม โดยเฉพาะเขต 5 คือ ‘บ้านใหญ่’ ตระกูลสะสมทรัพย์ ที่เล่นการเมืองมาหลายสิบปีทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ มีบุคลากรที่เป็น ส.ส. และรัฐมนตรี มาแล้วหลายราย
ตระกูลสะสมทรัพย์เข้ามามีบทบาทอย่างสูงทางการเมืองใน จ.นครปฐม ตั้งแต่ช่วงปี 2538-2539 โดยย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และอยู่ใต้ร่มเงา ‘พรรคนายใหญ่’ มาตลอดตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ต่อมาช่วงปี 2561 ย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา
ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 พรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ใช้ยุทธศาสตร์ ‘แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ โดยในพื้นที่เขต 5 จ.นครปฐม พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ให้ ทษช. ส่งแทน คือ นายมนตรี บุญประคอง แต่ต่อมาเกิดปรากฏการณ์ 8 ก.พ. 2562 ทษช. ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. เสียสิทธิ์ไปด้วย
ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว พรรคอนาคตใหม่ กำลังกระแสสูง และมีบทบาทต่อประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็น First Voter อย่างน้อย 7 ล้านคน ที่เชื่อว่าพรรคนี้จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ ทำให้แกนนำ ทษช. บางส่วนบอกฐานเสียงให้เทคะแนนให้กับพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นนี้ แกนนำระดับกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การที่ ทษช. ถูกยุบพรรค เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้จำนวน ส.ส. มากถึง 81 ราย
ประกอบกับในช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ‘บ้านใหญ่’ ค่อนข้าง ‘ประมาท’ นัยว่าเป็นฐานเสียงเดิมมานานหลายปี ขณะที่พรรคอนาคตใหม่กระแสสูง และ ทษช. เทคะแนนให้อีก ส่งผลให้นายเผดิมชัย ได้เพียงอันดับ 4 และ น.ส.จุมพิตา คว้าชัยชนะเป็น ส.ส. ครั้งแรก แต่ด้วยปัญหาสุขภาพทำให้ไม่ได้เข้าสภาแม้แต่ครั้งเดียว ก่อนจะลาออกในเวลาต่อมา จน กกต. ต้องจัดเลือกตั้งใหม่เขต 5 จ.นครปฐม
อย่างไรก็ดีในช่วง 8 เดือนถัดมา มีหลายวีรกรรมที่พรรคอนาคตใหม่สร้างขึ้น ทั้งแง่ดี และแง่ลบ โดยเฉพาะกรณี ‘ธนาธรเอฟเฟคท์’ ที่นายธนาธร พูดพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในศาลรัฐธรรมนูญ ทำนอง ‘เหยียบย่ำ’
นั่นอาจกลายเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่เหล่า ‘เครือข่าย-แฟนคลับนายใหญ่’ ไม่ทนอีกต่อไป ?
และด้วยบารมี-คอนเน็คชั่นระหว่าง ‘บ้านใหญ่’ และพรรคเพื่อไทย-เครือข่ายที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จึงไม่แปลกใจนัก ในการเลือกตั้ง 23 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ฐานเสียง ‘นายใหญ่’ กลับลำเมินจากพรรคอนาคตใหม่และเทคะแนนให้ ‘บ้านใหญ่’ ก็เป็นไปได้
(นายปิยบุตร ขอขอบคุณประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งเขต 5 จ.นครปฐม, ขอบคุณภาพจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
สอง ความเสื่อมศรัทธาต่อพรรคอนาคตใหม่?
แน่นอนว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ถึงเลือกตั้ง 23 ต.ค. 2562 หรือราว 8 เดือน กระแสของพรรคอนาคตใหม่ไม่สูงเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่มีหลายกรณีที่ทำให้ฐานเสียงค่อนข้างหดหายลง เช่น กรณีถือหุ้นสื่อของนายธนาธร กรณีแกนนำพรรคให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวที่อาจกระทบชิ่งไปยังบางสถาบันฯ หรือกรณีล่าสุด 70 เสียงโหวตค้านการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ซึ่งเป็น 1 เดียวจาก 7 พรรคฝ่ายค้านที่โหวตค้าน ขนาดพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านหลัก ยังโหวตเห็นชอบกันทุกราย ไม่เว้นแม้แต่ดาวสภาฝั่งแดงอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หรือนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่พูดออกไมค์ชัดเจนว่า “เห็นชอบ” พ.ร.ก.ฉบับนี้
ขณะเดียวกันบุคลากรภายในของพรรค ส.ส.ของพรรค หรืออดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ต่างออกโรงแฉเบื้องลึกเบื้องหลังวิธีการบริหารจัดการภายในพรรคอนาคตใหม่ว่า มีการกินรวบอำนาจอยู่ที่ ‘ศูนย์กลาง’ อย่างเดียว โดยไม่ฟังเสียง ส.ส. ในพื้นที่
แน่นอนว่า หลายพรรค โดยเฉพาะพรรคใหญ่ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ล้วนมีกลุ่ม-ก๊วน-ก๊ก ส.ส. แบ่งขั้วแบ่งข้างกันไป แต่ด้วยบารมี-วิธีการบริหารจัดการภายในของพรรคใหญ่เหล่านี้ ทำให้เกิดปัญหา ส.ส. ที่ออกมา ‘สาวไส้’ พรรคตัวเองน้อยมาก ทำให้อาจมีหลายคนตั้งคำถามหรือสงสัยในวิธีการบริหารจัดการภายในพรรคอนาคตใหม่ว่า ตกลงมีปัญหากันจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?
และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้ประชาชนบางกลุ่มที่เคยหนุน เสื่อมศรัทธาลง ก็เป็นไปได้
สาม การเลือกตั้งในวันพุธทำพ่ายแพ้?
ประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นโดยพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศให้ 23 ต.ค. 2562 (วันพุธ และเป็นวันปิยมหาราช) เป็นวันเลือกตั้ง โดยฝั่ง กกต. อ้างว่า เป็นวันหยุดเพียงวันเดียวที่จัดการเลือกตั้งได้ทันภายใน 45 วันตามกฎหมาย แต่พรรคอนาคตใหม่ เห็นต่างว่า การเลือกตั้งในวันพุธ แม้จะเป็นวันหยุด แต่หยุดเฉพาะราชการ ส่วนภาคเอกชนมีบางแห่งไม่หยุด โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรค ดังนั้นการใช้วันพุธอาจไม่เป็นธรรม
ต่อมา กกต. ร่อนหนังสือไปยังทุกหน่วยงานภายใน จ.นครปฐม ว่า หากมีหน่วยงาน หรือเอกชนแห่งใด ไม่หยุดทำการในวันที่ 23 ต.ค. 2562 ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางกฎหมาย
ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง 23 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา กกต. เผยแพร่ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า มีผู้ใช้สิทธิ 143,542 ราย จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 91,043 ราย (ร้อยละ 63.43) ซึ่งลดลงจากวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ประมาณ 10% หรือประมาณหลักหมื่นราย
ดังนั้นปัจจัยนี้อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักนักที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่พ่ายแพ้ เพราะเสียงที่หายไปประมาณ 2 พันเสียง และใน 2 พันเสียงดังกล่าว มิอาจทราบได้ว่าเป็นเสียงของพรรคอนาคตใหม่เท่าใด
นี่คือ 3 ปัจจัยเบื้องต้นที่ทำให้ ‘บ้านใหญ่’ คัมแบ็กกลับมาชนะ และทำให้พรรคอนาคตใหม่พ่ายแพ้ ?
อ่านประกอบ :
คะแนนเลือกตั้งเขต 5 นครปฐมไม่เป็นทางการ 'เผดิมชัย' 37,675 ชนะ อนค. 9,459 คะแนน
ผลเลือกตั้งเขต 5 นครปฐมไม่เป็นทางการ ‘เผดิมชัย’เฮ-อนค.ชี้ไม่น่าพอใจ-ปชป.พ่าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/