“มีชัย” แนะหัวใจพัฒนาชุมชน “ติวเข้มอาชีพ-สร้างเด็กรุ่นใหม่”
“มีชัย” แนะภาคธุรกิจมีบทบาทพัฒนาท้องถิ่น เสนอระยะยาวสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งและดี ทำโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกด้าน ผอ.รพ.พุทธชินราช เผยผลสำเร็จงานสุขภาพพื้นที่ ดึงบทบาทที่แตกต่างสร้างเครือข่ายสุขภาพชุมชน
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนา “เสริมสร้างความเข้มแข็งครอบครัวและชุมชนในการจัดการสุขภาพ” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดย นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิและหัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ร่วมอภิปราย “บทเรียนการจัดการความรู้สุขภาพชุมชน” ว่าโรคที่สร้างความทุกข์ให้ผู้ป่วยไม่ใช่เพียงโรคทางกาย แต่ยังมีความเจ็บป่วยทางใจต่างๆ ซึ่งสามารถรักษาได้หากผู้ให้บริการสาธารณสุขมองระบบสุขภาพในทุกมิติ รวมทั้งสร้างความไว้วางใจกับผู้ป่วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค นอกจากนี้ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันเรื่องการดูแลสุขภาพของชุมชน
“คนไข้จะไปรวมอยู่เฉพาะจุดที่มีหมอเก่งๆ มีอุปกรณ์ดีๆ ในอดีตไม่มีใครให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลพุทธชินราชจึงต้องสร้างเครือข่าย เพื่อให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ”
น.พ.นิพัธ ยังกล่าวว่า เมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนรักษาไม่ทัน จึงเปลี่ยนแนวคิดเปลี่ยนวิธีการโดยแลกเปลี่ยนพูดคุยและนำไปสู่การสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต. อสม. ที่มีบทบาทต่างกัน มีความรู้ต่างกัน โดยมีเป้าหมายร่วมคือให้ชุมชนมีสุขภาพแข็งแรงโดยสร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด
ผศ.ดร.วัลลา ตันตโยทัย คณะบดีสำนักพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่าต้องสร้างกิจกรรมต่างๆส่งเสริมให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ ซึ่งระยะแรกได้จัดโครงการตลาดนัดความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และยังต้องสร้างเครือข่าย สร้างรูปธรรมเด่นๆและนำมาโชว์ต่อสาธารณะเพื่อขยายผลนำไปปรับใช้กับแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนที่นำอาสาสมัครลงไปทำประโยชน์ให้กับชุมชน แทนรูปแบบการศึกษาดูงานแบบเดิมที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์
น.ส.อรอนงค์ ดิเรกบุษราคม นักวิชาการสาธารณะสุขชำนาญการ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคเหนือ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่าผู้ให้บริการสาธารณสุขต้องเห็นเป้าหมายคือชีวิตคนไข้ และจากรูปธรรมที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การที่บุคลากรสาธารณสุขลงพื้นที่ ดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลสุขภาพของแต่ละคน และสร้างแนวทางการดูแลสุขภาพชุมชน
“เคยเจอผู้ป่วยเบาหวาน อายุมากแล้วแต่เขาดูแลตัวเองดีมากๆ เขาบอกว่าอยู่กับลูกเล็กๆเพียงลำพัง ถ้าเขาดูแลตัวเองไม่ดีแล้วเป็นอะไรไปลูกคงลำบาก ซึ่งแต่ละคนมีเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ต่างกัน เราจึงจับจุดได้ว่า ต้องใช้เป้าหมายชีวิตมาเป็นตัวกระตุ้นให้เขาดูแลตัวเอง”
ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ กล่าวถึง “การประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชน” ว่าต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยยกตัวอย่างเรื่องการคุมกำเนิดที่กรอบคิดเดิมคือต้องให้แพทย์สั่งจ่ายยา มาเป็นสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน รณรงค์และสร้างแรงจูงใจ ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างดี จากปี 2517 ครอบครัวหนึ่งมีลูกเฉลี่ย 7 คน เมื่อรณรงค์และสำรวจในปี 2543 พบว่าต่อครอบครัวมีลูกเพียง 1.5 คนต่อครอบครัวเท่านั้น
“การชวนชาวบ้านมาทำอะไร อย่าไปบอกว่าต้องทำนั่นทำนี่ แต่ต้องบอกว่าทำแล้วดีอย่างไร เช่น ตอนนั้นรณรงค์เรื่องการทำหมันและยาคุมกำเนิด ก็มีโครงการเงินกู้ปลอดครรภ์ คือถ้าไม่ท้องมาเอาหมูไปเลี้ยง 1 ปี ให้ 1 ตัว ปีที่ 2 ให้ 2 ตัว ถ้าถึง ปีที่ 4 ให้เข้ากองทุนหมู่บ้านได้ ผู้หญิงทุกคนบอกเหมือนกันหมดเลยว่าพอไม่ท้องแล้วมีเงินเหลือ”
นายมีชัย กล่าวอีกว่า การพัฒนาชุมชนจะไม่สำเร็จหากชาวบ้านยังยากจนอยู่ ภาคเอกชนควรเข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วย ซึ่งรูปธรรมที่ทำมาได้แก่ การอบรมให้ทักษะด้านอาชีพ เช่น การเลี้ยงหมูหลุม ให้ความรู้ในการประกอบธุรกิจโดยใช้เงินกู้จากธนาคารหมู่บ้าน แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างคนดีและเก่งให้ชุมชน ดึงเด็กนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของหมู่บ้าน เป็นการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ และแผนในอนาคตคือพัฒนาโรงเรียนชุมชนเพื่อเป็นแหล่งสร้างคนรุ่นใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น.