กฟผ.เดินหน้าพัฒนาแม่แจ่มเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบของไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ฟังความเห็นชาวแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสำรวจศักยภาพ ในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน มอบ กฟผ. เป็นแม่งานประสานชุมชนและลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า โดยคำนึงถึงการยอมรับ ของชุมชนเป็นสำคัญ
23 ต.ค. 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พน.) พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และผู้บริหาร กฟผ. นำโดยนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมพื้นที่เป้าหมายที่ชุมชนเสนอให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชน
และโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากซังข้าวโพด สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พน. เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดและเศษวัสดุจากต้นข้าวโพดปีละ 90,000 ตัน สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้มากเพียงพอที่จะดูแลพื้นที่ห่างไกลของอำเภอได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด ได้ดำเนินการนำซังข้าวโพดมาใช้เลี้ยงสัตว์และทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าชุมชนได้ โดยมีพื้นที่เป้าหมายเสนอให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชุมชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ ในการกำจัดของเสียทางการเกษตรแทนการเผาที่สร้างมลพิษให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าให้กับคนในท้องถิ่นแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า สอดคล้องกับแนวคิด Energy for All ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ โดยโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่มจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก ที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ มอบหมายให้ กฟผ. เดินหน้่าลงพื้นที่พัฒนาโรงไฟฟ้าแม่แจ่ม ประสานชุมชนเพื่อจัดทำ สัญญาประชาคม ข้้อตกลงในการจัดหาวัตถุดิบ และจัดทำแผนงานเสนอต่อกระทรวง โดยคาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 10 เดือน ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก
ด้านนายณัณฐณัชช์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นโครงการที่คนในชุมชนแม่แจ่มอยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หากสามารถนำซังข้าวโพดมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า มีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ ทั้งนี้มั่นใจว่า แม่แจ่มเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่มีปริมาณซังข้าวโพด ลำต้น และเปลือกข้าวโพดปีละหลายหมื่นตัน ไม่นับรวมแกลบ ฟางข้าว และขยะจากครัวเรือนที่ยังสามารถนำมาใช้ได้ จึงมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะสร้างประโยชน์ สร้างอาชีพให้กับคนแม่แจ่ม