ชั่งน้ำหนักข้อมูล! ลุ้นมติ คกก.วัตถุอันตราย แบน 3 สาร ยึดประโยชน์ใครตัวตั้ง?
ลุ้นมติคกก.วัตถุอันตราย แบน 3 สารเคมีเกษตรเสี่ยงสูง ‘สุริยะ’ ยันสัดส่วนก.อุตสาหกรรม ยกเลิกแน่ สอดคล้อง สธ.-กษ. ฝั่งอุตฯ เกษตร หวั่นทำต้นทุนสูง กระทบธุรกิจ จี้นายกฯ ตั้งคณะทำงานศึกษาใหม่
การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค. 2562 จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ชี้ชะตาว่า จะมีมติแบน 3 สารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ หลังจากที่ประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค มีมติให้แบนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เพื่อเป็นของขวัญของคนไทย
หากซาวน์เสียงในคณะกรรมการวัตถุอันตรายสัดส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม จากการให้สัมภาษณ์ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันชัดเจนว่า 3 ท่าน ได้แก่ รักษาการรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะลงมติแบนอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับเสียงจากกระทรวงสาธารณสุข ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยืนยันเช่นกันว่า ต้องแบนเท่านั้น!! หากรวมกันแล้วใกล้เคียงเสียงกึ่งหนึ่งจากคณะกรรมการฯ ทั้งหมด 29 คน ของการจะมีมติแบนสารเคมีเกษตรเสี่ยงสูงดังกล่าวได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยังไม่มั่นใจว่า สุดท้ายคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะตัดสินใจแบนหรือไม่
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุถึงปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรสำคัญให้มีการยื้อเวลาต่อไปอีกว่า ที่ประชุมฯ อาจหยิบยกกรณีทางเลือกในการทดแทนการใช้สารเคมีที่อ้างว่ายังมีราคาสูงกว่าสารเคมีเดิม จึงเห็นควรให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เร่งเสนอข้อมูลเข้าไปอย่างชัดเจน ทั้งวิธีการและมาตรการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนด้วย
อีกหนึ่งเหตุผล คือ การลงมติไม่เปิดเผย ซึ่งถึงแม้ว่า ที่ประชุมจะให้คณะกรรมการลงมติแบบเปิดเผย แต่ขั้นตอนดังกล่าวไม่บังคับ หากคณะกรรมการคนใดต้องการลงมติไม่เปิดเผย ยังสามารถทำได้
ผอ.มูลนิธิชีววิถี จึงกังวลว่า กรณีเป็นการลงมติไม่เปิดเผย จะลำบาก เพราะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแต่ละตัวแทน จะไม่ทราบว่า ตัวแทนของตนเองลงมติไปในทิศทางใด แม้ว่ารัฐมนตรีจะมีนโยบายสนับสนุนการยกเลิกแล้วก็ตาม
ฝากฝั่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแบน ออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยื้อเวลาต่อไปอีก และเสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะทำงานอิสระผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจัดงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยถึงข้อมูลที่ขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการแบน เช่น การค้นพบการปนเปื้อนของสารเคมีในพืชผักและผลไม้ ความเป็นพิษและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ตลอดจนข้อกล่าวหาที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทำลายระบบประสาท โดยทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน เนื้อเน่า และมีผลกระทบถึงทารกในครรภ์มารดา
ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า คณะทำงานอิสระผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องไม่ใช่นักวิชาการกลุ่มเดิมจากฝั่งเสนอให้แบน!!!
สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า ข้อเสนอให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารเคมีชนิดอื่นแทน โดยเฉพาะ ‘กลูโฟซิเนต’ เป็นสิ่งที่เกษตรกรยอมรับไม่ได้ เนื่องจากมาราคาสูงกว่าเฉลี่ย 445 บาท/ลิตร ในขณะที่พาราควอต 125 บาท/ลิตร มิหนำซ้ำ ประสิทธิภาพยังต่ำและมีข้อมูลบอกว่าจะสะสมเป็นผลระยะยาวกับสุขภาพ
นอกจากนี้ข้อแนะนำให้เกษตรกรใช้แรงงาน หากคิดแค่เพียง 60 ไร่ เฉพาะกลุ่มเกษตรกรต้องใช้พาราควอต ได้แก่ผู้ปลูกอ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน มะพร้าว ยังไม่รวมผลไม้ชนิดอื่น เช่น มังคุด ฝรั่ง และอื่น ๆ จะเสียค่าใช้จ่ายแรงงานสูง 1.3 ล้านล้านบาท/ปี ต่างจากพาราควอตที่มีต้นทุนเพียง 0.13 ล้านาท/ปี
หากสุดท้าย มีการแบนและให้ใช้แรงงาน รัฐต้องเตรียมเงินมาชดเชยในส่วนค่าจ้างแรงงานไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท/ปี
เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ยังระบุถึงการใช้เครื่องจักรแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครอบครัว 1.3 แสนบาท/ปี ดังนั้น เพียงหาเงินมาชำระหนี้ดอกเบี้ยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังแทบไม่มีจ่ายแล้ว การสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรจึงเป็นการผลักภาระให้แก่เกษตรกร
ส่วนเกษตรกรชาวสวนรายอื่น ๆ ต่างสนับสนุนเสียงของนายสุกรรณ์ และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนออีกว่า ให้เลี้ยงวัวไว้กินหญ้า เพราะวัวจะทำลายระบบท่อน้ำที่อยู่ในสวน จนเกิดความเสียหายได้
นี่คือความเคลื่อนไหวช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะมีการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีมติยึดประโยชน์เป็นคุณกับฝ่ายใดนั้น ต้องลุ้นกัน!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:เปิดข้อเสนอทดแทน 'พาราควอต-ไกลโฟเซต'
งานวิจัยมหิดล พบพาราควอตตกค้างในขี้เทาทารกสูงเกินครึ่ง ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก
สธ.-เกษตรฯ คลิกออฟ ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร
สมาพันธ์เกษตรฯ ชี้ ‘กลูโฟซิเนต’ ทดแทน ‘พาราควอต’ ไม่ได้ ประสิทธิภาพด้อย-ต้นทุนสูง