“อนุทิน” มอบ 5 นโยบายบริหาร “กองทุนบัตรทอง ปี 63”
“อนุทิน” เปิดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์บริหาร “งบบัตรทอง ปี 63” มอบ 5 นโยบายหลัก รุกบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ยั่งยืน พร้อมย้ำ “ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม” หัวใจสำคัญหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือของทุกคน ทุกภาคส่วน
วันที่ 21 ต.ค. 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับทิศทางในอนาคต” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 800 คน ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.), หัวหน้ากลุ่มประกันหน่วยบริการทุกสังกัดทั่วประเทศ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และ สปสช. ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
นายอนุทิน กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) เน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และผลสัมฤทธิ์ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และ สปสช. เพื่อให้การดูแลสุขภาพคนไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทุกระดับและทุกมิติ พร้อมติดตามการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการดำเนินการในพื้นที่ ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และหน่วยบริการล้วนมีความสำคัญ ต้องเข้าใจนโยบายและการบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรมมต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน
ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพ เป็นธรรม ไม่ล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพ จนเป็นที่ยอมรับชื่นชมจากนานาประเทศและให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดจากการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งผู้จัดบริการ ภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้ดูแลจัดการกองทุน ตั้งแต่เริ่มก่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545 และพัฒนาต่อยอดจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ในปี 2563 นี้
นายอนุทิน กล่าวว่า ความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยวันนี้ ยังมีความท้าทายจากสถานการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและการบริหารจัดการกองทุนฯ ที่รออยู่ อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดจำนวนลงของเด็กเกิดใหม่ โรคภัยเพิ่มขึ้นของโรคภัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม สารเคมี และมลพิษต่างๆ รอบตัว เป็นต้น ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านสุขภาพของคนไทย ภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าภายใต้กองทุนบัตรทอง คนไทยทุกคนต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดี รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ไม่ต้องร่วมจ่าย บนหลักการคือ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ภายใต้ 5 นโยบายสำคัญ ดังนี้
1. กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของดูแลสุขภาพตนเอง อาทิ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหรือเจ็บป่วย ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งกับประชาชนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
2. จัดระบบการคลังด้านสุขภาพที่ยั่งยืน (Sustainability) มี 2 ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.2 และรายจ่ายรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 16.7 แม้ว่าขณะนี้ตัวชี้วัดของประเทศจะยังไม่เกินเป้าหมาย แต่ควรเร่งรัดหามาตรการรองรับ โดยเฉพาะการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืน
3. การจัดบริการให้เพียงพอด้วยการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ การดำเนินนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยผู้ป่วยรับยาร้านยาใกล้บ้านที่ช่วยลดการรอคอย เพิ่มการให้คำปรึกษาโดยเภสัชกรเพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสม เป็นต้น การใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีเพื่อนัดตรวจ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง
4. การลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิประโยชน์และคุณภาพการบริการของ 3 กองทุน เปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในประเด็นที่ยังเป็นปัญหา อาทิ การร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่ยังขาดความชัดเจน การกระจายบริการสุขภาพสู่ในพื้นที่ชนบทและเขตเมืองที่เหมาะสม และดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น
5. เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการกองทุนและจัดการทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ กำลังคน พร้อมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ให้กับประชาชน เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น
“ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม เป็นกลไกสำคัญของการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ความสำเร็จรวมทั้งความยั่งยืนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนและทุกภาคส่วนในการช่วยคิด ช่วยสร้าง ช่วยกันแก้ปัญหาอุปสรรค เช่นเดียวกับการประชุมในวันนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นหลักประกันด้านสุขภาพที่มั่นคงให้กับประชาชนตลอดไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว