21 ตุลา ‘วันรักต้นไม้แห่งชาติ’ ต้นไม้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรดหยุดย่ำยีตามใจชอบ
“...พื้นฐานที่สุดที่ควรรู้ก็คือจะปีนต้นไม้แบบไหน จะตัดบริเวณไหนที่ไม่ทำให้ต้นไม้สุขภาพเสีย การตัดทำไปเพื่ออะไร แล้วผลจะเป็นอย่างไร เราต้องการเน้นพื้นฐานให้ประชาชนสามารถตัดแต่งต้นไม้ที่บ้านตัวเองได้ หรือถ้าจ้างคนมาตัดก็จะมีความรู้พอที่จะกำกับหรือติดตามการทำงานให้ถูกวิธีได้...”
ไม่ว่าจะมองด้วยเหลี่ยมมุมใด “ต้นไม้” ก็มีความยิ่งใหญ่และลุ่มลึก
ต้นไม้เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้โอบอุ้ม ต้นไม้ธรรมดาๆ เพียง 1 ต้น มหัศจรรย์พอที่จะเชื่อมร้อยระบบนิเวศน์ของโลกใบนี้เข้าหากัน ต้นไม้ยังเป็นต้นทางของสรรพชีวิตหลากหลาย ผูกโยงความเชื่อ ประเพณี วิถี และวัฒนธรรมมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ในทางพุทธศาสนา นอกจากต้นไม้จะดำรงอยู่ในฐานะของสัญลักษณ์แล้ว ต้นไม้ยังมีความแนบแน่นกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเป็นเนื้อเดียว พระองค์ประสูติท่ามกลางแมกไม้ ตรัสรู้บริเวณโคนไม้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานโดยมีต้นไม้ห้อมล้อม
ในทางวิทยาศาสตร์ ต้นไม้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต นั่นเพราะต้นไม้มีกลไกการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปกักเก็บ เพื่อสร้างลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอกผล ฯลฯ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง แล้วคายออกมาเป็นออกซิเจนคืนให้แก่สิ่งมีชีวิตอีกครั้ง
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บอกว่า ต้นไม้คือเครื่องมือของธรรมชาติที่ดีที่สุดในการสร้างระบบนิเวศน์และเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร
“ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ต้นไม้ต้องคายน้ำออกมาเหมือนกับตอนที่เราเหงื่อออก ผลลัพธ์ก็คือเราจะเย็นเพราะความร้อนถูกดึงออกไปแล้ว ฉะนั้นใต้ต้นไม้จึงเย็นสบาย ร่มไม้จึงเป็นสิ่งที่เย็นที่สุดกว่าทุกร่มเงาที่มนุษย์สร้างขึ้นมา” อาจารย์ปริญญา ระบุ
จากคุณประโยชน์อีกมากมาย ทั้งในแง่ของการความสมดุล การยับยั้งภัยธรรมชาติ ฯลฯ ฉะนั้นไม่ว่าจะมองด้วยแง่มุมใด ต้นไม้ก็ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อย่างไรก็ดี น่าแปลกใจที่ต้นไม้ซึ่งสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ชาติกลับถูกทำลายไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งการโค่นเพื่อค้ากำไร การรุกรานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนอย่าง “การตัดต้นไม้ผิดวิธี” ซึ่งทำให้ต้นไม้ได้รับความเสียหายอย่างร้ายกาจเช่นกัน
บ่อยครั้งที่เราเห็นต้นไม้สองข้างทางถูกหั่นอย่างเหี้ยมโหด ต้นไม้ใหญ่ถูกเฉือนจนยอดด้วน เกิดเป็นทัศนะอุจาดและความเจ็บช้ำของผู้พบเห็น
เนื่องในโอกาสที่วันนี้ ตรงกับวันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ หรือ “วันรักต้นไม้แห่งชาติ” (วันที่ 21 ต.ค. ของทุกปี) พอดิบพอดี จึงอยากแนะนำให้รู้จักกับโครงการหนึ่งที่น่าจะพอช่วยเยียวยาบาดแผลนี้ได้บ้าง นั่นก็คือโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการรุกขกรรมขั้นต้น ของ มธ. ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้-ความเข้าใจ ในการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่อย่างถูกต้อง
การอบรมดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างอาจารย์คณะภูมิสถาปัตย์ มธ. กลุ่มบิ๊กทรี (BIG Trees) ตลอดจนเครือข่ายนักอนุรักษ์ และภาคเอกชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ร่วมกันทำการออกแบบเป็นหลักสูตรเชิงปฏิบัติ (workshop) 6 วัน (เฉพาะเสาร์-อาทิตย์) โดยจะมีการบรรยายเพียง 1 วัน ส่วนอีก 5 วัน เป็นการศึกษาผ่านการปฏิบัติจริง
ในช่วงแรกเริ่ม หลักสูตรมุ่งเน้นไปที่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการอบรมไปถึง 6 รุ่น ส่งผลให้ในหลายพื้นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ เขตที่ดำเนินการไม่ถูกต้องอยู่อย่างเดิม จนราวปี 2560 มธ. ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมอบรม ค่าอบรม 900 บาท รวมค่าอาหาร
ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ได้หารือกับทีมรุกขกรผู้ฝึกสอนเพื่อออกแบบหลักสูตรระยะสั้นที่สุด จนได้ข้อสรุปเป็น 6 วัน ที่เพียงพอต่อการเรียนรู้วิธีการปีนป่ายเบื้องต้น หลักการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง
“พื้นฐานที่สุดที่ควรรู้ก็คือจะปีนต้นไม้แบบไหน จะตัดบริเวณไหนที่ไม่ทำให้ต้นไม้สุขภาพเสีย การตัดทำไปเพื่ออะไร แล้วผลจะเป็นอย่างไร เราต้องการเน้นพื้นฐานให้ประชาชนสามารถตัดแต่งต้นไม้ที่บ้านตัวเองได้ หรือถ้าจ้างคนมาตัดก็จะมีความรู้พอที่จะกำกับหรือติดตามการทำงานให้ถูกวิธีได้” ผศ.ปราณิศา อธิบาย
วัตถุประสงค์ของ มธ. คือต้องการอบรมและเผยแพร่ความรู้เบื้องต้นออกไปให้ได้มากและกว้างที่สุด ฉะนั้นภายใน 1 ปี จะมีการเปิดอบรมประมาณ 3-4 รุ่น โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีการอบรมประชาชนไปแล้ว 9 รุ่น หรือเฉียดๆ 300 คน ส่วนรุ่นต่อไปจะเปิดเมื่อใดนั้น สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เพจ thammasat smart city เพจ BIG Trees เพจเครือข่ายต้นไม้เมือง เพจสมาคมรุกขกรรมไทย
“แม้หลักสูตร 6 วัน จะเป็นเพียงทักษะเบื้องต้น แต่ก็ใช้งานได้จริง ตัวอย่างหนึ่งคือทุกวันนี้มหาวิทยาลัยได้จ้างนักศึกษาที่ผ่านการอบรมมาช่วยดูแลต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ ตัดแต่งต้นไม้ในโซนหอพัก โดยที่มหาวิทยาลัย
สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งก็เกิดเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมาได้จริง” ผู้ช่วยอธิการบดี มธ. ระบุ
อย่างที่กล่าวมา ต้นไม้ไม่ใช่เพียงแค่วัตถุที่มีขึ้นเพื่อสนองความต้อนการของมนุษย์ หากแต่ต้นไม้มีคุณค่ามากกว่านั้น พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ เคยบันทึกเอาไว้ว่า ต้นไม้ไม่ใช่สิ่งสามานย์ หรือวัตถุที่เราจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ หากแต่ต้นไม้เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเคารพและการปกป้องเนื่องในวันรักต้นไม้แห่งชาติ โปรดช่วยกันยับยั้งและหยุดการย่ำยีต้นไม้ตามใจชอบกันเสียที