46 ปี 14 ต.ค.ย้อนดูขุมธุรกิจสี่เสาฯ‘สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส’ก่อนหมดอำนาจการเมือง?
“…แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม-จอมพลประภาส นอกเหนือจากสัมพันธ์การทหาร-การเมืองแล้ว กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ที่สืบทอดต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ยังดำเนินธุรกิจหลายแห่ง รวมถึงนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จำนวนมากด้วย…”
ครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า บรรดาทายาทสกุล ‘กิตติขจร-จารุเสถียร’ ทำธุรกิจอะไรกันบ้าง หลัง ‘เหตุวิปโยค’ ดังกล่าว ที่ส่งผลให้ 2 จอมพล ‘ถนอม-ประภาส’ หมดอำนาจทางการเมือง (อ่านประกอบ : 46 ปี 14 ต.ค.ส่องธุรกิจทายาท ‘กิตติขจร-จารุเสถียร’ ที่ยังหลงเหลือ?)
หลายคนคงทราบไปแล้วว่า การเมืองไทยช่วงต้นทศวรรษ 2500 กลุ่มสี่เสาเทเวศร์นำโดย ‘จอมพลผ้าขะม้าแดง’ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารจากกลุ่มซอยราชครู (นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.ต.อ.เผ่าศรียานนท์ และ พล.อ.ผิณ ชุณหะวัณ) ครองอำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2500 โดยระหว่างนั้นมีนายทหารคนสนิทที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากจอมพลสฤษดิ์ 2 นาย ได้แก่ ถนอม กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2506 จอมพลถนอม และจอมพลประภาส ได้ขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง และปกครองประเทศยาวนานประมาณ 10 ปี
ในช่วงท้ายรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดความตึงเครียดภายในกองทัพบก เนื่องจากจอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี ควบเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีการต่ออายุราชการให้ตัวเองหลายครั้งเพื่อกระชับอำนาจ
ขณะที่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา รอง ผบ.ทบ. รวมถึงนายทหารขั้วอำนาจใหม่ภายในกองทัพบกตำแหน่งไม่ขยับมายาวนานหลายปี ว่ากันว่าเกิดกระแสความไม่พอใจระหว่างขั้ว ‘จอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร’ กับขั้วของ พล.อ.กฤษณ์ แม้จะได้รับความไว้วางใจเป็นรัฐมนตรีหลายสมัยในรัฐบาลจอมพลถนอมก็ตาม จนหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 พล.อ.กฤษณ์ ได้นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. หลังนั่งเป็นรองมานานถึง 7 ปี และเกิดกลุ่มอำนาจใหม่ทางการเมืองจนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 (พล.อ.กฤษณ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ เม.ย. 2518)
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม-จอมพลประภาส นอกเหนือจากสัมพันธ์การทหาร-การเมืองแล้ว กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ที่สืบทอดต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ยังดำเนินธุรกิจหลายแห่ง รวมถึงนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จำนวนมากด้วย
@‘สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส’คุมเครือ ‘สห’-นั่งร่วมกัน 3 คนทำโรงโม่หิน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท รัชตศิลา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2494 ทุน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจรับทำการย่อยหิน โม่หิน ทุกขนาดทุกชนิด สถานะปัจจุบันถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่าร้าง
ปรากฏชื่อ พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศขณะนั้น) พล.ต.หลวงสถิตยุทธการ นายโชติ คุณะเกษม พ.อ.ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) พ.อ.ประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) พ.อ.จิตติ นาวีเสถียร (ยศขณะนั้น) นานยสหัส มหาคุณ หลวงอรรถกัลยาณวินิจ นายจวบ บูรณศิลปิน และนายบรรเจิด ชลวิจารณ์ เป็นกรรมการ
ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้าฯ ระบุว่า บริษัท รัชตศิลา จำกัด เป็นหนึ่งในเครือธุรกิจของบรรดานายทหารสาย ‘สี่เสาเทเวศร์’ ส่วนใหญ่มักขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘สห’ (อ่านว่า สะหะ)
@‘ถนอม’กก. 3 แห่ง-‘ประภาส’ 12 แห่ง ทั้งส่งขายเหล็ก-เครื่องมือแพทย์-ปิโตรเลียม-เลี้ยงสัตว์
นอกเหนือจากบริษัท รัชตศิลา จำกัดแล้ว จอมพลถนอม กิตติขจร ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทอีกอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) มีคนสกุลเพ็ญชาติ และเหล่าวิวัฒน์วงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) แจ้งประกอบธุรกิจผลิตกระเบื้องเคลือบ และไม่เคลือบชนิดต่าง ๆ ปรากฏชื่อคนสกุลเพ็ญชาติ และเหล่าวิวัฒน์วงศ์ รวมถึงจอมพลถนอม เป็นกรรมการ และบริษัท แหลมทองพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2505 ทุน 4 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจสัมปทานและขุดเจาะสำหรับเรือผ่าน ปัจจุบันแจ้งเสร็จชำระบัญชีแล้ว
ขณะที่จอมพลประภาส เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 12 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ร่วมวัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ทำธุรกิจขายส่งเหล็กกล้าและโลหะ 2.บริษัท อโศกตะวันออก อินดัสเทรียล จำกัด ทำธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่มิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น 3.บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์สหไทย จำกัด ทำธุรกิจบริษัทโฮลดิ้ง 4.บริษัท สากลเซอร์วิส จำกัด ทำธุรกิจขายส่งสินค้าเภสัชและทางการแพทย์ 5.บริษัท จารุพัฒน์ จำกัด ทำธุรกิจกิจกรรมการบริการ 6.บริษัท ที.ซี.เอส คอนติเนลตัลซัพพลาย จำกัด ธุรกิจปิโตรเลียม 7.บริษัท ไซแอมฟาร์ม จำกัด ทำธุรกิจเลี้ยงสัตว์ 8.บริษัท ยูไนเต็ดฟลูโอไรท์ จำกัด 9.บริษัท เอ็น เอช ไอ เทรดดิ้ง จำกัด ทำธูรกิจขายส่งน้ำมันพืช 10.บริษัท ประเสริฐสินธุ์อุตสาหกรรม จำกัด ทำธุรกิจการจับปลาทะเล 11.บริษัท คัทธมารศรี จำกัด ทำธุรกิจการก่อสร้างอาคาร และ 12.บริษัท สากลร่วมกิจ จำกัด ทำธุรกิจขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์วิศวกรรมโยธางานเหมือง โดยทั้งหมดมิได้ประกอบธุรกิจแล้วในปัจจุบัน
@‘กฤษณ์ สีวะรา’ 6 บริษัท
ขณะที่ตัวละครสำคัญในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 คือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 6 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ภาพยนตร์สุขุมวิท จำกัด ทำธุรกิจจัดฉายภาพยนตร์ 2.บริษัท ภูมิจิตร จำกัด ทำธุรกิจขายส่งเหล็กกล้าและโลหะ 3.บริษัท มิตรพัฒนา ภัตตาคาร จำกัด ทำธุรกิจร้านอาคารภัตตาคาร 4.บริษัท สหวิศวการโยธา จำกัด ทำธุรกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย 5.บริษัท สหวิสว-มหาไทย จำกัด ทำธุรกิจการก่อสร้างถนนสะพานและอุโมงค์ 6.บริษัท เหมืองแร่ไทยพัฒนา (ราชบุรี) จำกัด ทำธุรกิจการเหมืองสินแร่โลหะ
ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียวที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่ บริษัท สหวิสว-มหาไทย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2509 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ปรากฏชื่อนายก้าน รัตนสาขา นายชาตรี โสภณพนิช นายปิยะ ศิวยาธร และนายณรงค์ สุทธิกุลพาณิชย์ เป็นกรรมการ แต่มิได้แจ้งงบการเงินอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2559
บริษัท ภาพยนตร์สุขุมวิท จำกัด นอกเหนือจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แล้วยังปรากฏชื่อ พล.ต.เกรียงไกร อัตตะนันทน์ (ยศขณะนั้น) ร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยจอมพลเกรียงไกร อัตตะนันทน์ เป็นจอมพลคนสุดท้ายแห่งกองทัพไทย เป็นอดีตแม่ทัพภาค 1 เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อปี 2515
จอมพลเกรียงไกร มีบุตรคือ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ซึ่งสมรสกับคุณหญิงศุภนภา อัตตะนันทน์ (สกุลเดิม จารุเสถียร) บุตรของจอมพลประภาส
นอกจากนี้ในบริษัท แหลมทองพัฒนา จำกัด ทำธุรกิจสัมปทานและขุดเจาะสำหรับเรือผ่าน ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร นายพจน์ สารสิน และบุคคลอื่นรวม 10 ราย เป็นกรรมการ ปรากฏชื่อของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ร่วมเป็นกรรมการด้วย โดย พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ คืออธิบดีกรมตำรวจ ที่มีบทบาทอย่างมากร่วมกับ พล.อ.กฤษณ์ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516
@‘บิ๊กอ๊อด’เคยนั่ง กก.ร่วม‘ประภาส’
ที่น่าสนใจในขุมข่ายธุรกิจของจอมพลถนอม จอมพลประภาส มีนายทหารคนสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองสมัยรัฐบาลนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย ได้แก่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา หรือ ‘บิ๊กอ๊อด’ โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็น ‘ลูกเขย’ ของจอมพลประภาส เนื่องจากสมรสกับคุณหญิงอรพรรณ ศศิประภา (สกุลเดิมจารุเสถียร)
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัท ยูไนเต็ดฟลูโอไรท์ จำกัด ในช่วงยศ ‘พันเอก’ ร่วมกับ พลจัตวา ประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น)
นี่คือข้อมูลในมุมธุรกิจของบรรดา 3 จอมพลสายสี่เสาเทเวศร์ ‘สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส’ ที่ครองอำนาจทางการเมืองไทยนับรวมกันยาวนานประมาณ 16 ปี (2500-2516) ล้างบางเครือข่ายคณะราษฎรคนสุดท้ายอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ต้องลี้ภัยทางการเมือง จนถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่น) ก่อนจะปิดฉากทางการเมืองไปหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/