ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการ CONNEXT-ED ระยะ 3 สานต่ออนาคตการศึกษาไทย
ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และ 33 องค์กรเอกชน ประชุมนโยบายและแผนงานขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไทย โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ระยะที่ 3 พัฒนาสมุดพกดิจิทัล ระบบการบริจาคออนไลน์ CONNEXT ED Crowdfunding ตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED และขยายเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 ภาครัฐ นำโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ พร้อมด้วยภาคประชาสังคม และภาคเอกชน นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ / ประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน และคณะผู้บริหารจาก 33 องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรใหม่ของโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ผนึกกำลังสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จัดการประชุมนโยบายและแผนงานขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไทย ภายใต้ “โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED” ประจำปี 2562 ณ ห้องประชุม กำแหงพลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ถ.สุโขทัย เพื่อสานต่อความสำเร็จของโครงการในระยะที่ 2 ที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าหารือแนวทางการดำเนินงานในระยะที่ 3 ทั้งการพัฒนาสมุดพกดิจิทัล รวมถึงระบบการบริจาคออนไลน์ CONNEXT ED Crowdfunding ตลอดจนการตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED พร้อมขยายเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน โดยยังคงยึดยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้านของโครงการในการยกระดับการจัดการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 สู่การสร้าง “เด็กดี-เด็กเก่ง” ของประเทศอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ในการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาศักยภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศ
การประชุมครั้งนี้ เริ่มต้นจากการสรุปรายงานผลการดำเนินงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ในระยะที่ 2 (2561-2562) ในการยกระดับการจัดการการศึกษาในโรงเรียนประชารัฐ จากโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศได้ถึง 4,781 โรงเรียน มีนักเรียนที่ร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 1,047,660 คน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นโดยคะแนน O-NET ของนักเรียนโรงเรียนประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าปีที่ผ่านมา 9.85% และสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศอีกทั้งขยายความร่วมมือจาก 12 องค์กรเอกชนชั้นนำผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ กับเครือข่ายพันธมิตรใหม่อีก 21 องค์กรเอกชน รวมเป็น 33 องค์กร มีผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ซึ่งเป็นพนักงานจิตอาสาจากองค์กรภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเป็น 900 คน และองค์กรภาคเอกชน จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนประชารัฐ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,153 ล้านบาท ครอบคลุม 77 จังหวัด
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ กล่าวว่า “วันนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ได้มีโอกาสหารือร่วมกันในการประชุมจัดการประชุมนโยบายและแผนงานขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไทย ภายใต้ “โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED” ประจำปี 2562 ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย สะท้อนถึงความตั้งใจของทุกฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผลอย่างรวดเร็ว ซึ่งยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการผลักดันให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เกิดขึ้นทั่วประเทศ (95% ของโรงเรียนทั้งหมด) ภายในพฤษภาคม 2563 โดยนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกระทรวงและโรงเรียน พัฒนาครูบุคลากร และสนับสนุนการบริหารจัดการในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมให้การสนับสนุนโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED และขอขอบคุณความทุ่มเทของทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งที่ทุกคนได้ร่วมกันทำ ถือว่าสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในบริบทที่ไม่เคยมีมาก่อน และสามารถใช้พลังจากความร่วมมือนี้ขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันผลักดันให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้”
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ / ประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน กล่าวว่า “การดำเนินงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ในระยะที่ 3 ยังเดินหน้าตามแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. Transparency – เปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส ทุกภาคส่วน สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ประเมินผล เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาโรงเรียนได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner เป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับคุณครูที่มีส่วนร่วม 2. Market Mechanism – กลไลตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม ซึ่งสำคัญมาก เป็นผลมาจากความโปร่งใสของข้อมูลตัวชี้วัด ซึ่งทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนในหลากหลายมิติ ทำให้มีโอกาสพัฒนาไปถึงระบบการบริจาคออนไลน์ หรือ Crowdfunding ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ดีมากให้ประชาชนทุกคนมีส่วนช่วยกัน 3.High Quality Principals & Teachers – การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน สร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจ ยกระดับคุณภาพผู้บริหารและครูอย่างมืออาชีพ 4. Child Centric & Curriculum - เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ เพื่อให้เด็กสามารถค้นพบกระบวนการเรียนรู้ รู้จักตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ และลงมือทำร่วมกัน เป็นสร้างทักษะการเรียนรู้แบบ Action Based Learning จะมีการพัฒนาสมุดพกดิจิทัล เพื่อทำให้ระบบแพลทฟอร์มด้านดิจิทัลลงไปถึงเยาวชน ทำให้เห็นศักยภาพของเด็กได้อย่างโปร่งใส และ 5. Digital Infrastructure – การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา สร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนห่างไกล ได้เรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล เข้าถึงแหล่งความรู้ทั่วโลกได้อย่างทัดเทียมมากยิ่งขึ้น”
สำหรับโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ในระยะที่ 3 (2562-2563) จะมีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องตาม 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
สมุดพกดิจิทัล : พัฒนาระบบฐานข้อมูลและการจัดการสถานศึกษา School Management System ให้สามารถประมวลผลข้อมูลและแสดงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนรายบุคคล ในรูปแบบ “สมุดพกดิจิทัล” ที่จะช่วยให้ทราบจุดอ่อน จุดแข็ง ความถนัด ของนักเรียนแต่ละคน อันนําไปสู่การพัฒนาทักษะและส่งเสริมศักยภาพได้ตรงจุดต่อไป
ระบบการบริจาคออนไลน์ CONNEXT ED Crowdfunding : จัดทําระบบบริจาคออนไลน์เพื่อระดมทุนสนับสนุนด้านการศึกษาสําหรับโรงเรียนที่ต้องการการสนับสนุนงบประมาณในด้านต่างๆ โดยระบบได้รวบรวมโครงการตามแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนประชารัฐที่ผ่านการคัดกรองจากคณะทํางานส่วนกลางเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางการศึกษา
มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED : คณะทํางานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นํา เปลี่ยนสถานะเป็นมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษาพื้นฐานของประเทศ
Potential Partner : ขยายโอกาสความร่วมมือไปยังองค์กรเอกชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมโรงเรียนประชารัฐที่ยังต้องการการดูแลจากองค์กรเอกชน จํานวน 2,124 โรงเรียน โดยปัจจุบันมีโรงเรียนภายใต้ความดูแลของภาคเอกชน จํานวน 2,657 โรงเรียน จากจํานวนทั้งหมด 4,781 โรงเรียน
ทั้งนี้ โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ริเริ่มก่อตั้งขึ้นโดย 12 องค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กลุ่มมิตรผล : กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เอสซีจี บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ บมจ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
ล่าสุด ในปีที่ผ่านมา มีเครือข่ายพันธมิตรใหม่เข้าร่วมโครงการอีก 21 องค์กร รวมเป็น 33 องค์กร ได้แก่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น บมจ. บ้านปู สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โรงเรียนเอ็นคอนเส็ปท์ อี แอคเคเดมี่ บจ. ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม และบจ. สวนอุตสาหกรรมบางกะดี บมจ. บีอีซี เวิลด์ บจ. สลิงชอท กรุ๊ป บจ. เอดู พาร์ค บจ. เอ.พี. ฮอนด้า บจ. โพซิทีฟ โซลูชั่น บจ. เอส เค โพลีเมอร์ บจ. เบอร์แทรม (1958) บจ. โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) บจ. แม็คเอ็ดดูเคชั่น บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) บจ. เควี อิเล็กทรอนิกส์ บจ. แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอริ่ง บจ. เลิร์น คอร์ปอเรชั่น บจ. เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (เทสโก้ โลตัส) และบจ. เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย)
สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED” เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะทำงานสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED โทร. 02-069-2101 ต่อ 1003-1004 หรืออีเมล : [email protected]