"นราพัฒน์" ต้อนเกษตรกรเข้ามาตรฐาน GAP คุมเข้มนำเข้าจีน
"นราพัฒน์" กระทุ้งเกษตรกร-ล้งผลไม้ภาคตะวันออก เร่งยื่นขอรับรองมาตรฐาน" GAP" และ"GMP" สู้ศึกมาตรการคุมเข้มนำเข้าผลไม้จากไทยของ"จีน" ด้านสวพ.6 มั่นใจส่งออกลำไยนอกฤดูปีนี้ฉลุย เกษตรกรรายย่อยตื่นตัวเข้าสู่มาตรฐาน
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน"รวมพลังชาวสวนภาคตะวันออกเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP" ณ ลานขนถ่ายสินค้า องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีว่า ปัจจุบันภาคตะวันออกมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืชGAP เป็นจำนวนมาก นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตร เน้นการลดต้นทุนการผลิตเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน สร้างการชื่อมโยงผลผลิตที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกิจกรรมแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการแก้ปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำและปริมาณผลผลิตล้นตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาระบบการผลิตเพื่อให้มีคุณภาพ จนทำให้ผลไม้ไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และลำไยซึ่งภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรได้เน้นย้ำในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่มาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลในลักษณะแปลงใหญ่อบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิต เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP) มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นปีแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร หรือFood Safety ซึ่งปัจจุบัน เป็น ๑ ใน ๑๕ นโยบายสำคัญ ของกระทรวงฯ ในโครงการการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(Good Agricultural Practices : GAP) คือ แนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ผลคุ้มค่การลงทุนการผลิตตามมาตรฐาน GAPก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรสิ่งแวดล้อม ศรษฐกิจ และสังคม
ด้านนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กล่าวว่าภาคตะวันออกนับเป็นแหล่งผลิตไม้ผลส่งออกไปยังต่งประเทศ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง และกล้วยไข่ซึ่งประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในปี ๒๕๖๒ จีนมีการเปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบสินค้านำเข้าเป็น ทบวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้มีมาตรการคุมเข้มเรื่องการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยมากขึ้น โดยมีข้อตกลงให้ทั้ง ๒ ฝ่าย แจ้งข้อมูลสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ ๕ ชนิดตามพิธีสาร พร้อมให้มีการระบุรหัสโรงคัดบรรจุลงบนใบรับรองสุขอนามัยพืช เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับโดยฝ่ายจีนกำหนดให้เริ่มดำเนินการ ตามข้อตกลง ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฏาคม ๒๕๖เป็นต้นไป ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออกตื่นตัวและให้ความสนใจเข้ามายื่นคำร้องขอการรับรองแหล่งผลิต GAPพืชและผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุเข้ามายื่นขอการรับรองมาตรฐาน GMP โรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกเพิ่มมากขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรโดยสวพ.6 ในฐานะผู้รับผิดชอบภารกิจในการดำเนินการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ด้านพืช ในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้ร่วมกับองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดจันทบุรี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุดและสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดจันทบุรี ดำเนินงานด้วยมาตรการเชิงรุกโดยการจัดงาน "รวมพลังชาวสวนภาคตะวันออก เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP" เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ชาวสวนภาคตะวันออก ผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพได้รับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP สามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้โดยปราศจากเงื่อนไขการกีดกันทางการค้า
สำหรับการจัดงานในวันนี้มีเกษตรกรชาวสวนทั้ง๗ จังหวัดภาคตะวันออกเข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน โดยกิจกรรมมีการบรรยายพิเศษและเสวนาเรื่อง GAP และ GMP การจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ การรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP การรับรองโรงคัดบรรจ GMP ขั้นตอนกระบวนการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลการให้ปุ๋ยทางระบบน้ำชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีการบริหารสินเชื่อ ธกส. และนิทรรศการใช้เคมีภัณฑ์ การบริการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร การบริการขึ้นทะเบียนและรับสมัครเกษตรกร GAP โรงคัดบรรจุ GMP โดยกรมวิชาการเกษตร และ การบริการวิเคราะห์ดินน้ำปุ๋ยและการวินิจฉัยศัตรูพืชโดยมีเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษาแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ เชื่อว่าเกษตรกรชาวสวนในภาคตะวันออก จะได้รับประโยชน์จากการมาร่วมงานครั้งนี้ และสามารถผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้การรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้รับการรับรอง GMP ช่วยให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับแก่ผู้บริโภคและคู่ค้าสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวและมั่นใจจากการรวมพลังของเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุในการตื่นตัวในการเข้าสู่ระบบมาตรฐานGAPและGMP จะทำให้การส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกไปจีน โดยเฉพาะลำไยนอกฤดูกาลปีนี้เป็นไปอย่างราบรื่นแน่นอน