ผลงาน 6 ปี สปสช.เหน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมเบิกจ่ายค่ารักษา-ลดภาระ รพ.
ผลงาน 6 ปี “NCH” หลังมติ ครม.มอบ สปสช.เป็น หน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมเบิกจ่ายค่ารักษาทุกกองทุนสุขภาพภาครัฐ ประสานส่งข้อมูล NCH แล้ว 115 กองทุน ครอบคลุมประชากรเกือบทั้งประเทศ เหลือเพียง 13 กองทุนย่อย เร่งเดินหน้าต่อ ช่วยลดภาระ รพ.ส่งเบิกจ่ายรายกองทุน ลดภาระกองทุนสุขภาพตรวจสอบการเบิกจ่าย พร้อมเป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์ วางแผน กำหนดนโยบาย รวมถึงศึกษาวิจัย ปี 61 มีหน่วยงานยื่นขอใช้ข้อมูล NCH กว่า 100 คำขอ
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ได้มีมติให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกองทุนสุขภาพภาครัฐและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Clearing House : NCH) พร้อมให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อบูรณาการให้เกิด National Health Information Center ที่เป็นฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ เพื่อใช้วิเคราะห์และวางแผนการบริหารสวัสดิการรักษาพยาบาล ปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุนสุขภาพภาครัฐจำนวน 128 แห่ง
ผลการดำเนินงานในช่วงกว่า 6 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการและกองทุนสุขภาพเป็นอย่างดี นอกจากความร่วมมือ 3 กองทุนสุขภาพหลักที่ได้เข้าร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลประชากรราว 65 ล้านคนแล้ว ยังได้รับความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐที่ดำเนินกองทุนรักษาพยาบาล 125 แห่ง ที่ดูประชากรราว 8 แสน ซึ่งขณะนี้มีเพียง 13 แห่งอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อดำเนินการ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดูแลประชากรประมาณ 7 แสนคนที่เข้าร่วม
ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลที่ดูแลสิทธิข้าราชการเกือบ 1,200 แห่ง ที่ผ่านมาได้ส่งข้อมูลการเบิกจ่ายมาที่ สปสช.เกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเพียง 168 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลใหญ่และโรงเรียนแพทย์ที่ยังไม่ดำเนินการ นอกจากนี้ สปสช.ยังดูแลในส่วนของการเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ให้กับคนไทยทุกคนตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560
ทั้งนี้จากที่ สปสช.ทำหน้าที่ NCH ข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดจะถูกส่งมาที่ สปสช. จากนั้นจะมีการทำการตรวจสอบความถูกต้องการเบิกจ่ายและส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลกองทุน เพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับโรงพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน
นพ.การุณย์ กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นนอกจากลดภาระงานของหน่วยบริการที่ต้องส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปยังกองทุนสุขภาพต่างๆ แล้ว ยังลดภาระกองทุนในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังนำไปใช้ในด้านการบริหารจัดการ ทั้งการวางนโยบาย ตัดสินใจ กำหนดขอบเขตสิทธิประโยชน์ และจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อ ครม. สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน ทำวิจัยต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีคำขอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีหน่วยงานต่างๆ ที่ยื่นขอใช้ข้อมูลกว่า 100 คำขอ
“ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเกือบ 5 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้ 4 แสนล้านบาทเป็นสัดส่วนที่รัฐให้การสนับสนุนในกองทุนสุขภาพภาครัฐ ตรงนี้นับว่าสำคัญมาก หากไม่มีข้อมูลภาพรวมการเบิกจ่ายทั้งระบบ ในการบริหารจัดการจะไม่สามารถมองภาพในระดับประเทศได้ แต่เมื่อมี NCH ทำให้ทราบว่า ในด้านสุขภาพประชาชนต้องการอะไรเพิ่มเติม อะไรที่ยังขาด และอะไรที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนากองทุนสสุขภาพ และระบบสุขภาพของประเทศ พร้อมก้าวไปสู่ National Health Information Center ในที่สุด” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว