นักวิชาการแรงงาน ติงประกันคนจนนอกระบบ ไม่ต่างจากซื้อประกันเอกชน
“อ.แล” แนะรัฐอย่ามองเงินเป็นตัวตั้ง หากใช้ระบบ “จ่ายมากช่วยมาก” ไม่ต่างจากซื้อประกันเอกชน อนาคตต้องพัฒนาสิทธิประโยชน์แรงงานนอกระบบเท่าเทียมในระบบ “เลขาฯ สปส.” เผยเริ่มใช้ ก.ค. เปิดเคาน์เตอร์เซอร์วิสรองรับ
วันที่ 19 ม.ค.54 นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 ที่ให้แรงงานนอกระบบจ่ายสมทบเดือนละ 100 บาท หรือ 150 บาท ว่าอยากให้สิทธิประโยชน์ที่กำหนดในครั้งนี้เป็นตัวตั้งต้นเพื่อจะพัฒนาสิทธิของแรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในอนาคตมากกว่าที่จะหยุดไว้เพียงเท่านี้
“รัฐบาลมีหน้าที่จัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ควรจัดสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบให้เท่ากับผู้ประกันตนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยจากการเลิกจ้าง เงินสงเคราะห์คลอดบุตร เพราะแรงงานนอกระบบก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน ไม่ใช่มองจำนวนเงินเป็นตัวตั้งอย่างเดียว หากตั้งเป้าว่าต้องจ่ายมากถึงจะได้มากก็ไม่ต่างอะไรกับการซื้อประกันชีวิตกับบริษัทเอกชน” นายแลกล่าว
นายแล กล่าวอีกว่าแรงงานนอกระบบมีเพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านคน ระบบประกันสังคมจึงต้องปรับตัวอีกมาก เพราะหากมีแรงงานเข้าสู่ระบบ จะมีงานเอกสารจำนวนมาก แม้สำนักงานประกันสังคม จะพยายามตั้งสำนักงานในระดับอำเภอเพิ่ม แต่ภาพลักษณ์ก็ยังเป็นคงเป็นแบบราชการ จึงควรลดความเข้มงวดของระบบราชการที่มีอยู่ให้สามารถเข้าถึงแรงงานนอกระบบได้มากขึ้น
ด้านนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าหลักเกณฑ์และอัตราจ่ายเงินสมทบในมาตรา 40 ได้มีการพิจารณาแก้ไขอย่างละเอียดรอบคอบแล้วและคิดว่าจะเริ่มดำเนินการใช้ไม่เกินเดือน ก.ค. นี้
“แรงงานนอกระบบไม่มีนายจ้าง การจะให้จ่ายเงินสมทบเหมือนนายจ้างทั่วไปนั้นคงทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สปส. จะอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงาน รวมถึงขยายสำนักงานลงในพื้นที่ชุมชนระดับอำเภอ โดยมีการปรับขยายการให้บริการผ่านกระบวนการในเครือข่าย เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็นต้น” นายปั้นกล่าว .
ภาพประกอบจาก : http://www.bangkokbiznews.com/home/news/finance/finance/2009/01/14/news_6571.php