ตามไป (เดิน) ดู กทม.-ภาคี ลงพท.ย่าน MRTวัดมังกร นำร่องปรับปรุงถนน-จ่อเลิกจุดค้าริมทาง
"...จากการสำรวจกายภาพถนน ตั้งแต่ช่วงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรถึงแยกหมอมี พบว่า มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วหลายด้าน ทั้งการทำทางลาดสำหรับขึ้นลงทางเท้า ขีดสีตีเส้นจราจร ซ่อมแซมป้ายบอกทางให้ชัดเจน และติดตั้งสัญญาณไฟทางข้าม รวมถึงรักษาปรับปรุงถนนทางเท้าให้เรียบ ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ายสิ่งกีดขวาง เช่น ตู้ไฟ หัวดับเพลิง ไปยังจุดที่เหมาะสม เบื้องต้น สำนักงานเขตผู้รับผิดชอบได้เข้ามาทำความเข้าใจกับผู้ค้าแล้ว หลังวันที่ 15 ต.ค. นี้ จะยกเลิกการผ่อนผันค้าขายบนทางเท้า โดยพิจารณาให้ย้ายไปขายในจุดที่เหมาะสมแทน เพื่อปรับปรุงกายภาพภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น..."
ถนนและทางเท้าเส้นเจริญกรุง ย่านเยาวราช กำลังเป็นถนนนำร่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถและประชาชนคนเดินเท้าในกรุงเทพมหานคร
เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมกับ มูลนิธิบลูมเบิร์ก (Bloomberg) องค์การอนามัยโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จับมือร่วมกันลงพื้นที่เดินสำรวจถนนและทางเท้าบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร (MRT สถานีวัดมังกร) เพื่อนำร่องพัฒนาถนนและทางเท้าเส้นเจริญกรุง ย่านเยาวราช ให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถและประชาชนคนเดินเท้า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสรวมขบวนเดินเท้าไปติดตามการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้ด้วย และสรุปข้อมูลสำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ณ ที่นี้
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สวมบทแม่ทัพใหญ่ในการเดินสำรวจถนนครั้งนี้ ให้ข้อมูลว่า สถิติช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า บริเวณนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 100 ราย และเสียชีวิต 2 ราย
จากการสำรวจกายภาพถนน ตั้งแต่ช่วงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรถึงแยกหมอมี พบว่า มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วหลายด้าน ทั้งการทำทางลาดสำหรับขึ้นลงทางเท้า ขีดสีตีเส้นจราจร ซ่อมแซมป้ายบอกทางให้ชัดเจน และติดตั้งสัญญาณไฟทางข้าม รวมถึงรักษาปรับปรุงถนนทางเท้าให้เรียบ ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ายสิ่งกีดขวาง เช่น ตู้ไฟ หัวดับเพลิง ไปยังจุดที่เหมาะสม เบื้องต้น สำนักงานเขตผู้รับผิดชอบได้เข้ามาทำความเข้าใจกับผู้ค้าแล้ว หลังวันที่ 15 ต.ค. นี้ จะยกเลิกการผ่อนผันค้าขายบนทางเท้า โดยพิจารณาให้ย้ายไปขายในจุดที่เหมาะสมแทน เพื่อปรับปรุงกายภาพภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้แก้ปัญหาการจราจรบริเวณแยกหมอมี ซึ่งเป็นจุดคับขันและรวมแยกหลายช่องทาง ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวมีเป้าหมายยกมาตรฐานถนนสู่ระดับ 3 ดาว (iRAP Star Rating) และนำร่องไปยังถนนเส้นอื่นต่อไป และจะดำเนินการยกเลิกจุดผ่อนผันบนถนนเจริญกรุง ตั้งแต่หน้าวัดมังกรจนถึงถนนแปลงนามทั้งฝั่งเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ ภายในเดือน พ.ย. นี้ โดยจะย้ายผู้ค้าไปจุดอื่นบริเวณใกล้เคียงทั้งหมดเพื่อเปิดทางเท้าให้โล่ง รองรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าฯ
"เนื่องจากการสำรวจพบว่า หากปล่อยให้มีการค้าขายบนทางเท้าบริเวณนี้จะทำให้คนเดินทางเท้าไม่มีทางเดินและต้องลงเดินบนถนนก่อให้เกิดอันตราย เป้าหมายเพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความสะดวกสบายให้คนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น” รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
ขณะที่ นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยรายงานการสำรวจการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร ว่า ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดของถนนเจริญกรุง คือ การรุกล้ำทางเท้าโดยผู้ค้าข้างทาง อีกทั้ง ทางเท้าหลายจุดมีสิ่งอำนวยความสะดวกกีดขวาง เช่น กล่องไฟฟ้า หัวรับน้ำดับเพลิง หรือบางจุดพื้นผิวทางเท้าไม่สม่ำเสมอ ชำรุด นอกจากนี้ บางตำแหน่งที่สำคัญไม่มีทางม้าลายหรือสัญญาณไฟสำหรับข้ามถนนอีกด้วย ทั้งนี้รายงานผลสำรวจดังกล่าวได้สรุปข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาที่พบแล้ว
ส่วน รศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณะบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการ ศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP กล่าวว่า สังเกตในเบื้องถนนบริเวณดังกล่าวนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนัก มาตรการต่าง ๆ ที่ใช้แก้ไขปัญหาไปอาจจะยังไม่ครบถ้วน แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ กทม. เห็นความสำคัญของคนเดินเท้า
“ถนนมีความเสี่ยงหรือไม่อย่างไร ต้องมีเครื่องมือมาใช้ประเมิน จะได้รู้ว่าถนนจุดนั้นมีความปลอดภัยเป็นอย่างไรบ้าง และจะได้แก้ไขให้ถูกจุด ซึ่งการประเมินตามแบบของ iRAP มีกว่า 50 ตัวชี้วัด นานาประเทศให้การยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่ได้มาตรฐานที่น่าเชื่อถือ โดยจะประเมินแยกเป็นความปลอดภัยสำหรับ ผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน และคนเดินเท้า โดยไม่นำมารวมกัน จะให้คะแนนออกมาเป็นจำนวนดาว 1-5 ดาว 1 คือ ปลอดภัยน้อยที่สุดและ 5 คือ ปลอดภัยมากที่สุด ซึ่ง 3 ดาวขึ้นไปจึงถือว่าปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ถนนเส้นนี้อาจจะได้ 3 ดาว สำหรับรถยนต์ แต่ได้ 1 ดาว สำหรับคนเดินเท้า ก็ได้ อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนโดยการทำ iRAP star rating นั้น หลายประเทศทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันว่า ภายในปี 2573 ถนนที่สร้างใหม่จะต้องได้ 3 ดาว และถนนเดิมที่มีอยู่แล้วจะต้องได้ 4 ดาว ซึ่งการศึกษาพบว่า จำนวนดาวที่เพิ่มขึ้น 1 ดาว สามารถลดอุบัติเหตุลงได้ครึ่งหนึ่ง” รศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล กล่าว
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ให้ความเห็นว่า กทม. นับว่าเป็นหน่วยงานท้องถิ่นขนาดใหญ่ หากสามารถดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ จะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วประเทศ
ทั้งหมดนี่ คือ ผลสรุปภาพรวมการเดินเท้าลงพื้นที่สำรวจถนนและทางเท้าเส้นเจริญกรุง ย่านเยาวราช เพื่อนำร่องไปสู่การพัฒนาถนนให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถและประชาชนคนเดินเท้าภายใต้ความร่วมมือระหว่างกทม. และภาคีทุกภาคส่วนที่เริ่มดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้วในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก http://www.prbangkok.com