กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
“รองเลขาธิการ กสทช.” เผย 21 ต.ค.นี้ รับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทาง “ดาวเทียมไทย จะไปทางไหน?” ก่อนเปลี่ยนจากระบบสัมปทานสู่ระบบการอนุญาต เปิดโอกาสผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่แข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2562 พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ดาวเทียมไทยจะมีทิศทางในการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาต เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ มีขั้นตอนการอนุญาตที่ชัดเจนและเกิดการแข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทยด้วย ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ใช้งานดาวเทียมมีทางเลือกมากยิ่งขึ้นจากการแข่งขันที่ไร้การผูกขาด
อย่างไรก็ตามในอนาคตหากมีการเปิดเสรีดาวเทียม ถ้าไม่มีการรักษาสมดุลระหว่างดาวเทียมไทยกับดาวเทียมต่างชาติอาจส่งผลให้ดาวเทียมไทยในอนาคตไม่มีที่ไป ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 60 ได้บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ” และได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ กสทช. ดำเนินการตามมาตรา 60 ในนามรัฐ ทำให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนด และ กสทช.ได้อนุมัติในหลักการต่อ (ร่าง) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ โดยในวันที่ 21 ตุลาคม 2562 จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) แผนฯ และประกาศหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ฉบับ ที่
สำหรับแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จะเป็นทิศทางในการกำหนดแนวทางการบริหารกิจการดาวเทียมของประเทศไทย โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ทั้งหมดของประเทศไทยอันเป็นสมบัติของชาติ ที่กำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคของดาวเทียม คลื่นความถี่ที่ใช้งาน วงโคจร (Slot) และพื้นที่บนโลกที่ใช้งานได้ (Footprint) ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับที่ ITU กำหนด
นอกจากนั้น แผนฯ ยังได้กำหนดแนวทางในการให้ได้มาและ รักษา รวมทั้งการสละสิทธิ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การแบ่งประเภทของสิทธิเป็นสิทธิขั้นต้นและขั้นสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ของ ITU ทำให้การรักษาสิทธิจะรักษาเฉพาะสิทธิหรือข่ายงานดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ที่มีดาวเทียมใช้งานอยู่จริง
สำหรับการอนุญาตให้มีการใช้สิทธินั้นหากเป็นสิทธิขั้นต้นกรณีข่ายงานดาวเทียมใหม่ จะพิจารณาโดยใช้หลักใครมาขอก่อนได้ก่อน สำหรับสิทธิขั้นสมบูรณ์เดิม กสทช.จะออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และมีบทเฉพาะการรองรับการอนุญาตใช้สิทธิสำหรับบริษัทไทยคมฯ ไปจนกว่าอายุสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้กับสัมปทานคลื่นความถี่ เช่นเดียวกัน
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ หรือ Landing Right นั้น เป็นการเปิดให้ผู้ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเพื่อประกอบการให้แก่บุคคลอื่นทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย ซึ่งนอกเหนือจากการได้รับอนุญาตใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติแล้ว ต้องได้รับการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายไทยแล้วแต่กรณีด้วย และต้องสอดคล้องตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ทิศทางดาวเทียมของประเทศไทยจะไปสู่การเปิดตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการในการอนุญาต ที่โปร่งใส ชัดเจน ตามประกาศที่จะเกิดขึ้น
ที่มา : https://www.naewna.com/business/446186