นักเศรษฐศาสตร์ชี้ “สูตร 70 รัฐ 30” ประกันแรงงานนอกระบบ คนจนไม่มีจ่าย
“วิโรจน์-ณรงค์” ฉะประชาวิวัฒน์ “ประกันสังคมแรงงานนอกระบบ” รบ.คิดกำไร-ขาดทุนแบบบริษัท เน้นได้เสียงเร็วแต่เข้าไม่ถึงแก่นลดความเลื่อมล้ำ แนะรัฐต้องสมทบเกินครึ่งจึงจูงใจ เสนอขึ้นค่าภาคหลวงแร่-ทองคำ-ทบทวนลดหย่อนภาษีนักลงทุนต่างชาติ เอาเงินมาชดเชยความเสี่ยงกองทุน
วันที่ 19 ม.ค. 54 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย “ประกันแรงงานนอกระบบ ช่วยเหลือหรือเพิ่มภาระคนจน” โดย นางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์การประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วม เพราะครอบคลุมแค่ 3 กรณี คลอดบุตร ทุพลภาพ เสียชีวิต และจ่ายแพงปีละ 3,360 เดือนละ 280 บาท ส่วนนโยบายประชาภิวัฒน์ทั้ง 2 รูปแบบที่ออกมาก็ยังไม่ตรงความต้องการ แบบแรกทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย พิการ ตาย ไม่มีชราภาพ แบบสองเพิ่มบำเหน็จแต่ไม่มีบำนาญ
“หัวใจสำคัญคือสิทธิกรณีชราภาพ แรงงานนอกระบบอยากเห็นประกันสังคมที่มีทั้งบำเหน็จบำนาญให้เลือกได้ เพราะบางคนรับบำเหน็จไปลูกหลานช่วยใช้หมด กลายเป็นภาระสังคมอยู่ดี”
นางสุจิน ยังกล่าวว่าหากแรงงานนอกระบบต้องการเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ยังต้องจ่ายเพิ่มอีก 100 บาท และมีความยุ่งยากในการนำส่งเพราะกองทุนประกันสังคมและ กอช.ยังไม่เชื่อมโยงกัน รัฐต้องไปหาวิธีทำให้เป็นการบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) อีกประเด็นสำคัญคือกรณีพิการอยากให้ได้รับสิทธิเท่ากันแม้ว่าจะมีระยะเวลาสมทบกองทุนต่างกัน และเสนอให้เปิดรับสมาชิกรายกลุ่มเพื่อเป็นการช่วยเหลือกันของแรงงานนอกระบบ ส่วนเบี้ยประกัน 2 แบบที่กำหนดออกมา ยังมีปัญหาความสามารถในการจ่ายของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีรายได้ไม่แน่นอน
นางมณี สุขสมัย ผอ.สำนักงานพัฒนาการประกันสังคมตามมาตรา 40 กล่าวว่าขณะนี้กำลังปรับอัตรากำลังคนและพัฒนาเครือข่ายการบริการให้เหมาะสมกับประกันสังคมแรงงานนอกระบบ เช่น จุดให้บริการใน 12 เขตในกรุงเทพฯ และ 82 อำเภอทั่วประเทศ และหากมีผู้สมัครเข้ามาในระบบนี้มากก็จะขยายจุดบริการเช่น ธนาคาร ไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซอร์วิซต่างๆ
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการการเกษตร ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าแนวคิดหลักของรัฐบาลคือไม่ต้องการให้เป็นภาระการคลังระยะยาว จึงจำกัดค่าใช้จ่ายในประกันสังคมประเภทนี้ หากดูจากตัวเลขที่รัฐจ่ายให้แรงงานในระบบสูงกว่าแรงงานนอกระบบหลายเท่าตัว คือรัฐบาลกำลังจ่ายให้คนจนกว่าน้อยกว่า ทั้งนี้หากจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จรัฐควรสมทบอย่างน้อย 50% ตามที่กฏหมายกำลังจะออกมา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีรายได้น้อย
ดร.วิโรจน์ ยังกล่าวว่าวิธีคิดของรัฐบาลไม่ต่างจากบริษัทประกันภัย คือคิดแบบการตลาดมากกว่าประโยชน์สังคม มองแรงงานนอกระบบเป็นภาระที่ต้องใช้เงินน้อยที่สุด แต่ได้คะแนนเสียงมาก
“รัฐจึงมุ่งเป้าไปที่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง แท็กซี่ หาบแร่ ที่จริงกลุ่มใหญ่สุดคือเกษตรกร แต่รัฐคิดว่ามีโครงการประกันรายได้แล้ว กลุ่มที่ไม่ค่อยถูกมองคือผู้รับงานไปทำที่บ้านที่นายจ้างมักหลีกเลี่ยงไม่ให้อยู่ในระบบ และรัฐก็ไม่แตะต้องมาก”
ดร.วิโรจน์ ยังกล่าวว่าคนส่วนใหญ่ต้องการบำนาญซึ่งเป็นการจ่ายรายเดือนมากกว่าบำเหน็จหรือเงินก้อนเดียว และภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ไม่ได้มากอย่างที่รัฐบาลคิด เพราะในอนาคตแรงงานนอกระบบจะเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ และยังเสนอว่าหากกำหนดเบี้ยประกันอยู่ที่ 100 บาท สามารถจ่ายบำนาญได้ 1,000 บาทต่อเดือนโดยไม่มีความเสี่ยงของกองทุน
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่ากำลังแรงงานนอกระบบของประเทศมีทั้งหมด 38 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หาบเร่แผงลอย-แท็กซี่-มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ซึ่งในภาคเกษตรกรรมมี 15 ล้านคน จำนวนนี้เป็นแรงงานเกษตรกรรับจ้าง 3 ล้านคน และเกษตรกร 12 ล้านคนซึ่งแยกเป็นเกษตรกรอิสระและเกษตรกรที่อยู่ในระบบพันธสัญญา ซึ่งกลุ่มที่ยากจนที่สุดคือแรงงานเกษตรกรรับจ้างที่ควรต้องได้รับการดูแลก่อน ทั้งนี้เสนอให้บริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 7 กองทุนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ และนำกลับมาเป็นเงินประกันสังคมของเกษตรกร เพราะไม่สามารถพึ่งการประกันรายได้เกษตรกรและการประกันราคาพืชผลได้ในขณะที่โครงสร้างภาคเกษตรกรรมปัจจุบันอยู่ภายใต้ระบบตลาด
ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีแรงงานนอกระบบ ประกอบด้วยลูกจ้างทั้งในภาครัฐและเอกชน 14 ล้านคน และกลุ่มคนประกอบอาชีพอิสระ 8 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่ตัวเลข 24 ล้านคนที่รวมนายจ้างไปด้วยอีก 1 ล้านกว่าคน และในส่วนที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษคือกลุ่มคนที่รับงานไปทำที่บ้านซึ่งที่ผ่านมาถูกละเลยมาตลอด
ดร.ณรงค์ ยังเสนอให้รัฐบาลมีความกล้าหาญในการหารายได้โดยการขึ้นภาษีหรือค่าภาคหลวงปิโตรเลียม แร่ ทองคำ และทบทวนการลดหย่อนภาษีนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะได้เงินเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านแล้วนำมาใช้กับกองทุนประกันสังคม ถ้าทำจริงก็ไม่ต้องกลัวเงินกองทุนไม่พอ.