“ปลัดแรงงาน” ค้านโอนสิทธิ์รักษา สปสช.ไป สปส.
ก.แรงงานแจงโอนสิทธิ์ประกันสังคมไปสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำยาก-ไม่เหมาะ เสนอแยกบัญชีโรคร้ายแรงจากเหมาจ่ายรายหัว-ให้รัฐบาลบริหารบำเหน็จแรงงานนอกระบบแทนจ่ายบำนาญชราภาพ
วันที่ 17 ม.ค.54 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้โอนสิทธิ์การรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด เพราะยังมีความแตกต่างของระบบการรักษาพยาบาลอยู่มาก ส่วนเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรคร้ายแรงนั้นที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ยอมส่งตัวผู้ป่วยโรคร้ายแรงเข้ารักษาในโรงพบยาบาลที่มีความพร้อมกว่า บางโรงพยาบาลก็ปฏิเสธการรักษา ขณะนี้จึงมีแนวทางที่จะแยกบัญชีโรคร้ายแรงออกจากเงินค่าเหมาจ่ายรายหัว โดยจ่ายเงินรายหัวเฉพาะผู้ป่วยนอก ขณะที่ผู้ป่วยในจะแยกจ่ายต่างหาก โดยกำหนดมาตรฐานค่ารักษาตามแต่ละโรค
“ต้องถามว่าหากจะนำผู้ประกันตนทั้งหมดไปอยู่ภายใต้สิทธิ์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐสามารถอุดหนุนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีได้หรือไม่ นอกจากนี้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน หมายความว่าเขาต้องการสิทธิที่ดีกว่า หากจะโอนย้ายสิทธิ์ทั้งหมดไปยัง สปสช.อาจทำให้เขารู้สึกว่าทำไมจึงได้สิทธิ์เท่าเทียมกับคนที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย โดยส่วนตัวคิดว่าควรจะทำให้ทุกคนอยู่ในระบบประกันสังคมมากกว่า เพราะมีทั้งการจ่ายเงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บ และการจ่ายบำนาญชราภาพ ซึ่งก็ใช้เงินไม่ต่างกันมากนัก” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
สำหรับกรณีที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบเรียกร้องให้เปลี่ยนจากการจ่ายบำเหน็จแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นการจ่ายบำนาญชราภาพแทนนั้น นายสมเกียรติกล่าวว่าปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนไทยมีมากขึ้น ทำให้คาดการณ์การจ่ายบำนาญเป็นไปได้ยากว่าจะต้องใช้เงินเท่าใด ยิ่งอายุเยอะก็ยิ่งเป็นภาระของกองทุน ซึ่งได้มีการหารือกันถึงแนวทางปฏิบัติ แทนที่ผู้ประกันตนจะรับเงินบำเหน็จเป็นก้อนก็ให้รัฐเป็นผู้บริหารเงินดังกล่าวแทนโดยรัฐจะเป็นผู้ให้ออกดอกออกผลแล้วทยอยจ่ายรายเดือน รับประกันระยะเวลาการจ่ายไว้ที่ 15 ปี วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มีเงินเพียงพอใช้จนกว่าจะเสียชีวิต
ส่วนผู้ประกันตนที่มีมีอายุยืนยาวเกิน 15 ปีหลังเกษียณไปแล้วนั้นมีวิธีการจัดการ 2 รูปแบบคือ 1.ให้รัฐรับภาระในการดูแลแทน หรือ 2.ใช้วิธีถัวเฉลี่ยเงินจากผู้ประกันตนที่เสียชีวิตก่อนครบกำหนด 15 ปีมาดูแลผู้ที่มีอายุเกิน 15 ปีหลังเกษียณแทน อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวต้องขอมติจากสังคมในการยินยอมให้นำมาเฉลี่ยโดยไม่ต้องจ่ายคืนแก่ทายาทผู้ประกันตน
ส่วนกรณีที่รัฐบาลประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ที่จะให้แรงงานนอกระบบจ่ายเงินเข้าสมทบเดือนละ 100 และ 250 บาท นั้น สำนักงานประกันสังคมจำเป็นต้องขอสนับสนุนด้านบุคลากรเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันเจ้าหน้าที่มีปริมาณงานจำนวนมากซึ่งต้องรับมือกับผู้ ประกันตนที่มีกว่า 9 ล้านคน ซึ่งหากมีแรงงานนอกระบบเพิ่มเข้ามาอีกจะทำให้ปริมาณงานเพิ่มขึ้นอีกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์.
ภาพประกอบจาก : http://www.seriruk.co.th/TH/uploaded/IMG_0387.jpg