เจาะ ป.อาญา 116 แจ้งจับง่ายแต่เอาผิดไม่ง่าย?
การที่ กอ.รมน.เดินหน้าแจ้งความเอาผิดแกนนำพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม จำนวน 12 คน ในข้อหายุยง ปลุกปั่น ทำให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมือง เพราะไปร่วมเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อำเภอเมืองปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.62 และมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 นั้น
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้มีการหยิบยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์กันอีกครั้ง ว่าการกระทำในลักษณะจัดเวทีเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามกฎหมายมาตรานี้หรือไม่
ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 นี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซุึ่งถือว่าไม่น้อย เนื้อหาเต็มๆ ทุกตัวอักษรตามกฎหมาย เขียนไว้แบบนี้
มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
ข้อหานี้มีข้อน่าสังเกตก็คือ พฤติการณ์ยุยง ปลุกปั่น ตามที่กฎหมายเขียนเอาไว้ ต้องบอกว่ากินความหมายกว้างมาก คือ "ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด (คือทำอะไรก็ได้) อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล, เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
แต่การจะเอาผิดมาตรานี้ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน (คือกล่าวหาง่าย แต่เอาผิดไม่ง่าย) เพราะพฤติการณ์ "ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด" แม้จะกินความหมายกว้างมาก แต่กฎหมายก็มีกำกับด้วยว่า ต้องไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ฉะนั้นหากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง ก็ไม่ผิด ก็ต้องดูว่าคนพูดมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ และฝ่ายความมั่นคงมีหลักฐานอะไรว่าเขาแอบแฝง
ส่วนจุดมุ่งหมายที่บอกว่า เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลนั้น กฎหมายเขียนกำกับไว้ชัดว่า "ต้องใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย" ด้วย ซึ่งดูจากเวทีฝ่ายค้าน น่าจะไม่เข้าข่าย
ขณะที่จุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน กฎหมายก็เขียนเงื่อนไขไว้ว่า ต้องถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
และจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ประเด็นนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะมีความสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ถ้าคดีนี้เดินหน้าต่อไป ก็ต้องรอลุ้นบทสรุปที่ศาล