อนาคต 'พะยูน' อนาคต 'คนลิบง'
หมายเหตุ:เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดเสวนา “อนาคตคนลิบง อนาคตพะยูน” ณ เกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อถอดบทเรียนการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมจากโครงการวิจัยแนวทางการอนุรักษ์พะยูนโดยชุมชนเกาะลิบง
การสูญเสีย ยามีล และมาเรียม พะยูนตัวน้อย ปลุกประเด็นการอนุรักษ์พะยูนในท้องทะเลไทยขึ้นมาอีกครั้ง ความอุดมสมบูรณ์เริ่มถูกทำลายจากน้ำมือมนุษย์ ปี 2561 มีพะยูนเกยตื้นตายมากถึง 17 ตัว ขณะที่ปี 2562 เฉพาะเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และตรัง มีพะยูนขนาดใหญ่ตายแล้ว 5 ตัว
เกาะลิบง จังหวัดตรัง พื้นที่สองหมื่นห้าพันไร่ พบพะยูนมากที่สุดในประเทศไทย เพราะใต้ผืนน้ำทะเลครามเต็มไปด้วยหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารแสนอร่อยของเจ้าสัตว์ชนิดนี้ ปัจจุบันในพื้นที่ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์สำคัญอีกด้วย
แน่นอนว่า การอนุรักษ์พะยูนให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งมีการถอดบทเรียนกันในพื้นที่ จนสามารถกำหนดมาตรการเฝ้าระวังอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก การทำลายแหล่งอาหารอย่างหญ้าทะเล และยังสามารถสงวนพื้นที่บางส่วนไว้ให้พะยูนได้อาศัย
ทำให้จากอดีตที่เคยกังวลว่า ‘พะยูน’ จะสูญพันธุ์ กลับเพิ่มจำนวนประชากร และดูเหมือนว่า จะกลายเป็นสัตว์น้ำอยู่คู่ทะเลไทยไปแสนนาน ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยความพยายามของนักอนุรักษ์และคนในชุมชนเกาะลิบง จังหวัดตรัง ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/