ผ่าปมร้อน รมต.ภูมิใจไทย เปิดหน้าไล่บี้ ซีพี ลงนามรถไฟความเร็วสูงสองแสนล. ใครได้-เสียปย.?
"...ที่ผ่านมา กลุ่ม CPH พยายามติดต่อประสานงานกับฝ่ายรัฐบาล เพื่อขอให้ช่วยเคลียร์ปัญหาต่างๆ ให้ โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดิน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนัก แถมบทบาทท่าทีของรัฐบาล ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงหลังผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งมาแล้ว เสียงของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เริ่มแข็ง ไม่อะลุ้มอล่วย เหมือนดั่งที่เคยเป็นมาในอดีต..."
"ที่ประชุมเพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,554 ล้านบาท มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานเร่งรัดกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกและเสนอราคาให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด 117,227 ล้านบาท ให้ลงนามพร้อมแนบหลักประกันสัญญาจำนวน 4,500 ล้านบาทภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้"
"ถ้าไม่ลงนามจะถูกขึ้นบัญชีดำปิดกั้นการประมูลงานในอนาคต เพราะเป็นผู้ทิ้งงานและจะริบเงินประกันซองราคา 2,000 ล้านบาททันที และให้เรียกกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (BSR Joint Venture) เอกชนผู้เสนอวงเงินขอให้รัฐสนับสนุนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 169,934 ล้านบาท เกินจากกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 119,425 ล้าน เป็นจำนวน 49,969 ล้านบาท มาเจรจาทันที โดยกลุ่ม CPH จะต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินกรอบดังกล่าวด้วย"
คือ คำประกาศยืนยันของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุนกว่า 224,554 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ชนะได้รับการคัดเลือกเข้ามารับงาน ในวงเงินงบประมาณ 117,227 ล้านบาท แต่ปัจจุบันการประมูลผ่านมานานเกือบ 1 ปีแล้ว แต่โครงการยังไม่มีความคืบหน้าและยังไม่ได้ลงนามในสัญญาแต่อย่างใด
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันด้วยตนเองว่า การสั่งเร่งรัดโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามดำริของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มอบหมายให้ตนเองไปเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ผ่านมามีการเจรจาหลายรอบและได้ปรับปรุงเงื่อนไขที่ทำได้ เช่น การชำระเงินค่าก่อสร้างสามารถจ่ายตรงผ่านอีอีซีไปยังผู้ชนะการประมูล เป็นต้น แต่ถ้าแก้สัญญามากกว่านี้ ไม่ได้แล้ว เพราะจะมีผู้เสียหายเกิดขึ้นและผู้แก้ไขสัญญาจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 คือ ละเว้นการฏิบัติหน้าที่
นายอนุทิน ยังย้ำด้วยว่า "สำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้น กลุ่มเอกชนที่ทำผิดเงื่อนไข นอกจากถูกยึดเงินค้ำค้ำประกัน 2,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีเรื่องใหญ่คือ การถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) เพราะกลุ่ม CPH ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกิจการร่วมค้า ซึ่งเกิดขึ้นจากร่วมตัวของหลายบริษัท ทำให้บริษัทร่วมกิจการเหล่านี้หมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลมอบหมายให้รายที่ 2 เข้ามาดำเนินโครงการแทน หากมีราคาค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น กลุ่มCPH ต้องจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น จึงอยากให้กลุ่มที่ชนะการประมูลดำเนินการโครงการต่อไปจะดีที่สุด"
หากพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานี้ ตามข้อมูลที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ระบุ จะพบว่ามีจุดสำคัญอยู่ตรงที่ความล่าช้าในการลงนามของ กลุ่มCPH เป็นหลัก เนื้องจากผลการประมูลผ่านมานานเกือบ 1 ปีแล้ว แต่โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้าและยังไม่ได้ลงนามในสัญญาแต่อย่างใด ที่สำคัญการสิ้นสุดวันลงนาม หรือ หมดระยะเวลายืนราคา ก็จะครบกำหนดในวันที่ 7 พ.ย.2562 นี้แล้วด้วย
คำอธิบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี จึงฟังดูมีเหตุผลมีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะออกมาไล่บี้ กลุ่มCPH ให้การลงนามในสัญญาเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ
คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไม กลุ่มCPH ปัจจุบันถึงยังไม่ลงนามในสัญญาอีก
ว่ากันว่ามาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ
หนึ่ง เพดานเงินกู้ในประเทศของ กลุ่ม CPH ขณะนี้เต็มหมดแล้ว จึงต้องเจรจาประสานขอกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการมานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ เพราะเงื่อนไขที่ กลุ่ม CPH ได้รับแจ้งตอบกลับมา เรียกได้ว่าถึงขั้นต้องกลืนเลือดกันเลยทีเดียว
สอง ความกังวลต่อปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินที่จะใช้ในการดำเนินงานโครงการของรัฐบาลมีความล่าช้า ทางกลุ่ม CPH ไม่ต้องการให้การดำเนินงานโครงการนี้ เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนกรณี บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ดำเนินการไปแล้ว แต่การเวนคืนที่ดินยังทำไม่เรียบร้อย ทำให้การดำเนินงานโครงการมีปัญหาตามมาอย่างมาก จนนำไปสู่กรณีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามมาเป็นหมื่นล้าน
มีการยืนยันข้อมูลว่า ที่ผ่านมา กลุ่ม CPH พยายามติดต่อประสานงานกับฝ่ายรัฐบาล เพื่อขอให้ช่วยเคลียร์ปัญหาต่างๆ ให้ โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดิน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนัก แถมบทบาทท่าทีของรัฐบาล ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงหลังผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งมาแล้ว เสียงของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เริ่มแข็ง ไม่อะลุ้มอล่วย เหมือนดั่งที่เคยเป็นมาในอดีต
ทั้งหมดนี่ คือ ท่าทีและความเคลื่อนไหวในส่วนของกลุ่มเอกชน ที่ดูเหมือนจะต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเต็มทีต่อไป แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ในท้ายที่สุดแล้ว หากไม่สามารถทำงานตามเงื่อนไขกติกาที่ตกลงไว้ได้ กลุ่มเอกชน ก็ควรต้องยอมรับปัญหาและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา จากการวางแผนงานที่ผิดพลาดไม่ครอบคลุมรอบด้าน แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ ถ้าหากกลุ่ม CPH ต้องตกม้าตายจากงานโครงการนี้ไปจริงๆ เอกชนรายไหนจะเข้ามารับงานต่อแทน เมื่อพิจารณาจากคำแถลงของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะพบว่า ชื่อของกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (BSR Joint Venture) ถูกคาดหมายว่า จะถูกเรียกมาเจรจาเพื่อมารับช่วงเดินหน้างานต่อทันที
คำถาม คือ กลุ่ม BSR (BSR Joint Venture) เป็นใครมาจากไหน?
จากการตรวจสอบพบว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture : BSR JV) ประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 3 บริษัท มีผลงานการรับเป็นคู่สัญญาว่าจ้างก่อสร้างภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมาจำนวนมากอยู่แล้ว
แต่ถ้าหากโฟกัสข้อมูลในส่วนของ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี จะพบว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะ
หนึ่ง บริษัท ซิโน-ไทย ฯ เป็นธุรกิจในครอบครัวของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ณ วันที่ 14 มี.ค. 2561 นายอนุทิน ถือหุ้น บริษัท ซิโน-ไทย ฯ 71,550,128 หุ้น (4.69%)
ในช่วงปีงบประมาณ 2558-2560 บริษัท ซิโน-ไทย ฯ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ รวมทังสิ้น 16 สัญญา รวมวงเงิน 30,555,239,956 บาท ในจำนวนนี้เป็นคู่สัญญาหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม 11 สัญญา วงเงินรวม 26,748,149,059 บาท แต่ก็มีบางโครงการก็มีเกิดปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลงานรวมอยู่ด้วย อาทิ โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นต้น
สอง ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ของ นายอนุทิน ก็มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท ซิโน-ไทย ฯ หลายรายการ พอร์ตหุ้น ระบุว่า มี 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอสทีพีแอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 662,308,673 บาท บริษัท ซิโน-ไทย ฯ มูลค่า 1,724,467,500 บาท และบริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) มูลค่า 357,142,850 บาท
นอกจากนี้ ยังมีเงินให้กู้ยืม 4 รายการ ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทยฯ 30,533 บาท บริษัท เพอร์เพชวล พรอสเพอริตี้ฯ 15,382,136 บาท บริษัท ไทยสเปเชียล สตีลฯ 135,988,731 บาท น.ส.ปราณี พิริยะมาสกุล 8.5 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ส่องทรัพย์สิน‘เสี่ยหนู-อนุทิน’จ่ายค่าหย่า‘ภรรยา’50 ล.-พอร์ตหุ้นซิโน-ไทยฯ 1.7 พันล.)
ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องบัญชีทรัพย์สินของนายอนุทิน แม้ว่า ในการแจ้งบัญชีช่วงเข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต่อ ป.ป.ช. ที่จะการเปิดเผยข้อมูลในเร็วๆ นี้ จะไม่ทรัพย์สินส่วนไหน เกี่ยวข้องกับ บริษัท ซิโน-ไทยฯ แล้วก็ตามแต่ต้องยอมรับความจริงว่า ภาพของ บริษัท ซิโน-ไทยฯ กับ นายอนุทิน ก็ยังคงผูกติดกันจนแยกไม่ออกอยู่ดี
นอกจากนี้ ปัจจุบัน นายอนุทิน มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในโควต้าของพรรคภูมิใจไทย ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่เมื่อบุคคลทั้งสอง ที่กำลังมีบทบาทในการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในขณะนี้ เวลาพูดถึงชื่อ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture : BSR JV) ที่มีชื่อ บริษัท ซิโน-ไทยฯ รวมอยู่ด้วย
นี่ยังไม่นับรวมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท ที่กลุ่มกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร นำโดย กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด จากปัญหาการยื่นซองเกินกำหนดเวลา ก็มีชื่อ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS นำโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ , บมจ.การบินกรุงเทพ และบมจ.ซิโน-ไทย ฯ เป็นหนึ่งในผู้ยื่นเสนอราคาด้วย
จึงทำให้คนอดสงสัยตีความเป็นเรื่องการเมืองไม่ได้ว่า การออกมาเคลื่อนไหว เปิดเกมไล่บี้ลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพิ่มเติมอีก ของ นายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม มีเป้าประสงค์อื่นรวมอยู่หรือไม่?
เพราะล่าสุดมีข่าวจากพื้นที่หลุดออกมาว่า มีคนในรัฐบาลบางคน เริ่มเรียกตัวผู้รับเหมาที่คุ้นเคย มาพูดคุยเรื่องการเข้ามารับงานช่วงงานในโครงการเกี่ยวกับอู่ตะเภาต่อกันแล้ว พร้อมแสดงความมั่นอกมั่นใจ ว่า "พวกเราได้งานนี้แน่นอน"
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ที่กลุ่มเอกชน และกลุ่มนักการเมือง กำลังเปิดศึกแย่งชิงสิทธิการเข้าไปในประโยชน์ทางธุรกิจในพื้นที่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่อู่ตะเภา ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่วงเงินหลายแสนล้านบาทกันอย่างดุเดือดในขณะนี้ และบางท่าทีก็สื่อให้เห็นถึงการใช้อำนาจทางการเมือง เพื่อเข้าไปแทรกแซงกำหนดเงื่อนไขให้กลุ่มของตนเองได้รับผลประโยชน์จากงานโครงการต่างๆ โดยตรง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้เริ่มสร้างความหงุดหงิดให้กับคนในกองทัพเรือเป็นอย่างมาก เพราะเริ่มมีความรู้สึกว่ากำลังถูกแทรกแซงบีบบังคับให้ยอมรับสภาพการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จากคนบางกลุ่ม ทั้งที่ พื้นที่อู่ตะเภา เป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศภาคพื้นน้ำที่อยู่ความดูแลของกองทัพเรือมาช้านาน
กองทัพเรือ จึงควรเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเองว่า จะให้ใครเข้ามาใช้ หรือร่วมทำประโยชน์ ในพื้นที่ มากกว่าจะยอมให้ใครบางกลุ่มเข้ามาตัดสินใจทำอะไรแทน แบบไม่เห็นหัว ดังที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้
ส่วนความหงุดหงิดดังกล่าว จะแปรรูปออกมาเป็นมาตรการตอบโต้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/