"ฉัตรสุดา" ห่วงยุบ ร.ร. เล็กแนะคำนึงถึงสิทธิเด็กในพื้นที่ห่างไกล
กสม. ฉัตรสุดา ห่วงกระทรวงศึกษาฯ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก วอนใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย – แนะคำนึงถึงสิทธิเด็กในพื้นที่ห่างไกล อาจเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา
วันที่ 2 ต.ค. 2562 นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กำชับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก (มีนักเรียนต่ำกว่า 300คน) ในปีงบประมาณ 2562-2565 โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อพิจารณาการควบรวมหรือปิดโรงเรียนขนาดเล็กตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนให้มีการจัดทำเครื่องมือระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System - GIS) เพื่อสำรวจที่ตั้งของโรงเรียนขนาดเล็ก นั้น
ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่สอง ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 477-478/2557 โดยรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการด้านการศึกษา และมีมติว่า นโยบายการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการศึกษาของเด็กที่จะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีข้อเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหา เช่น คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการศึกษา ต้องจัดการการศึกษาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะตรวจสอบ) มาตรา 49 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ที่ระบุให้การกระทำของหน่วยงานรัฐจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก เด็กจะต้องได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมและมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาภาคบังคับที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องไม่มีเด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับนโยบายการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งควรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน และภาคประชาสังคมในการจัดการศึกษาด้วย
นางฉัตรสุดา กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายที่ 4 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ที่รัฐบาลให้ความสำคัญนั้น คือ การเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โอกาสที่เด็กที่อยู่ในชนบทห่างไกลสามารถที่จะเข้าถึงโรงเรียนที่อยู่ใกล้และมีคุณภาพ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่นและชุมชนด้วยนั้น จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตนเห็นว่า การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่ในชนบทที่ห่างไกลศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพด้านงบประมาณและมาตรฐานการศึกษาจากส่วนกลางเป็นสำคัญเท่านั้น นอกจากจะเป็นการตัดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กที่อยู่ในชนบทห่างไกล หรือทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึง เช่น ความยากลำบากหรือความปลอดภัยในการเดินทางไปเรียนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภาระของผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยที่อาจส่งผลให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาด้วย ดังนั้น เจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ตลอดจนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น ก็อาจไม่สามารถบรรลุผลได้จริง
“ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารว่าต้องอยู่อย่างมีคุณภาพและมีปัจจัยที่เหมาะสม และการดำเนินนโยบายยุบ หรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จะต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายที่พิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม เป็นรายกรณี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ควรคำนึงถึงสิทธิเด็กในการศึกษา ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่3) พ.ศ.2553 ที่ได้ให้ความคุ้มครองและรับรองไว้ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา เพื่อให้เด็ก ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษาได้มีทางออกและทางเลือกสำหรับบุตรหลานในการได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กทุกคน” นางฉัตรสุดา กล่าว