ผลสอบลับ 'กรมการท่องเที่ยว' ซื้อกล้องวงจรปิด 188 ล. แพงเกินจริง-ข้อจำกัดใช้งานเพียบ
"... คณะกรรมการกำหนดราคากลาง กำหนดราคากลางสูงกว่าความเป็นจริง มีราคาสูงกว่าท้องตลาดมากบางรายการ เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ฯลฯ มีราคาสูงกว่าท้องตลาดมาก ทำให้ส่วนราชการเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10.85 ล้านบาท..."
โครงการค่าใช้จ่ายในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ วงเงิน 188 ล้านบาท ในช่วงปี 2557 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมการท่องเที่ยว กำลังถูกจับตามอง
เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า โครงการนี้ เคยถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการดำเนินงานหลายส่วน แต่ประเด็นที่ดูเหมือนจะบ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินงานโครงการ คือ การกำหนดราคากลางจัดซื้อสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ราชการเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่าสิบล้านบาท
โดย สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวที่สำคัญ ของกรมการท่องเที่ยว ตามสัญญาเลขที่ 48/2557 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 วงเงิน 188 ล้านบาท
พบข้อบกพร่องสำคัญ ดังนี้
1. คณะกรรมการกำหนดราคากลาง กำหนดราคากลางสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้สินค้ามีราคาสูงกว่าท้องตลาดมากบางรายการ เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด เครื่องคอมพิวเตอร์ฯลฯ มีราคาสูงกว่าท้องตลาดมาก ราชการเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10.85 ล้านบาท
2. ระบบจดจำใบหน้ามีข้อจำกัดในเรื่องมุมกล้อง ต้องเป็นมุมกล้องที่จับใบหน้าในระยะใกล้โปรแกรมจึงจะสามารถประมวลผลภาพใบหน้าได้ซึ่งเหมาะสำหรับการตั้งตามจุดผ่านด่านต่างๆโดยให้ผู้ต้องสงสัยยืนนิ่ง ๆ หน้ากล้อง หรือเคลื่อนไหวช้า ๆ ผ่านหน้ากล้อง เช่น ด่านตรวจคนเข้าเมือง
แต่กล้องวงจรปิดสำหรับโครงการนี้มีไว้สำหรับดูเหตุการณ์โดยรวมซึ่งเป็นมุมกล้องระยะไกลทำให้ระบบจดจำใบหน้าไม่สามารถใช้งานได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ประกอบกับ ณ วันส่งมอบงานงวดสุดท้ายจนถึงปัจจุบัน (ณช่วงเวลาตรวจสอบ) ตำรวจท่องเที่ยวยังไม่มีข้อมูลใบหน้าของผู้ต้องสงสัยในระบบ ซึ่งทำให้ตัวระบบยังไม่ได้มีการใช้งาน อีกทั้งราคาของระบบจดจำใบหน้าตามราคากลางของกรมการท่องเที่ยวมีวงเงินสูงถึง 9.78 ล้านบาท เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน หากใช้งานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว
3. ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติไม่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยตัวระบบอ่านป้ายทะเบียนเวลาใช้งานต้องมีการติดตั้งในแต่ละครั้ง (ตัวระบบเป็นแบบพกพา ไม่ใช่การติดตั้งแบบถาวร) ซึ่งการติดตั้งระบบต้องติดตั้งให้พอดีกับองศาและมุมกล้องในการอ่านป้ายทะเบียน ต้องใช้เทคนิคในการติดตั้ง
หากตำรวจท่องเที่ยวไม่สามารถติดตั้งได้อาจทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว ซึ่งตัวระบบอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติตามราคากลางของกรมการท่องเที่ยว มีราคาต่อแห่งเป็นเงิน 535,000 บาท มีทั้งหมด 5 แห่ง เป็นเงิน รวมทั้งสิ้น 2.68 ล้านบาท
4. มีการจัดซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น จากการสังเกตการณ์พบที่เมืองพัทยามีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและตู้รับแจ้งเหตุแล้วจำนวนหลายจุด ที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรีมีระบบกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว 1 ระบบ และในห้องควบคุมระบบกล้องวงจรปิดซึ่งมีขนาดเพียง 6 ตารางเมตร มีอุปกรณ์ประกอบด้วยจอแสดงผลภาพ 4 จอ โต๊ะทำงาน 2 ชุด เครื่องปรับอากาศขนาด 25,000 BTU 2 ตัว คอมพิวเตอร์ 3 ชุด ตู้เก็บระบบ 1 ตู้ โดยอุปกรณ์ทุกชิ้นยังสามารถใช้งานได้แต่ยังได้รับจัดสรรจากโครงการอีกซึ่งมีอุปกรณ์ที่ติดตั้งดังนี้จอแสดงผลภาพ 2 จอ โต๊ะทำงาน 2 ชุด เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU 2 ตัว คอมพิวเตอร์ 2 ชุด ตู้เก็บระบบ 1 ตู้ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดติดตั้งในห้องควบคุมที่มีขนาดเพียงประมาณ 6 ตารางเมตร แสดงให้เห็นว่าไม่มีการสำรวจ พื้นที่จริงก่อนดำเนินการจัดซื้อ
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า สตง. ได้ส่งรายงานสรุปผลการตรวจสอบโครงการนี้ ให้ผู้บริหารกรมการท่องเที่ยว และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับทราบนานแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ทราบความคืบหน้าผลการสอบสวนเรื่องนี้ว่าอยู่ในขั้นตอนไหน
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐพบว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 57 กรมการท่องเที่ยว ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เข้ามาเป็นคู่สัญญา จ้างดำเนินการโครงการค่าใช้จ่ายในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวที่สำคัญของตำรวจท่องเที่ยว วงเงิน 188,000,000 บาท ครบกำหนดสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 57
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบกล้องวงจรปิดจาก ไทยพีบีเอส ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรายงาน