มองไปข้างหน้า สังคมไทยกับบริการเรียกรถผ่านแอปฯ ถูกกฎหมาย
ที่แท็กซี่ออกมาประท้วง เกิดจากการมีต้นทุนที่สูงกว่า Ride-hailing เพราะกฎหมายบังคับให้แท็กซี่ต้องติดมิเตอร์ ติด GPS ทำสีรถ รถต้องตรวจสภาพ ต้องได้รับการอบรม ต่อใบขับขี่ นี่คือต้นทุนที่สูงกว่า ขณะเดียวกันการเรียกรถผ่านแอปฯ ภาครัฐก็ต้องลงมาดู ให้มีกฎหมายรองรับ จากรถยนต์ส่วนบุคคลตรวจทุก 7 ปี นี่ความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างกัน
อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชั่น หรือ Ride-hailing ได้เปลี่ยนชีวิตผู้คน โดยอาศัยความง่าย และความสะดวก เพียงการสัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟนไม่กี่ครั้ง ก็สามารถเรียกใช้บริการโดยสารรถยนต์ได้ทุกที่ ทุกเวลา
Ride-hailing ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารผ่านแอปฯ
เมื่ออุตสาหกรรมนี้ มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งผู้ขับขี่ แท็กซี่เดิม สหกรณ์แท็กซี่ ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ผู้โดยสาร ประชาชน รวมถึงภาครัฐ ซึ่งแต่ละส่วนมีประเด็น มีมุมมองที่แตกต่างกัน ทีมวิจัย ที่นำโดยดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ได้ศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการ หัวข้อ "อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านแอปพลิเคเชั่น (Ride-hailing service) บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน" อย่างรอบด้าน
ผลการศึกษา พบว่า การพัฒนา Ride-hailing ทำให้ถูกกฎหมายจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนที่เป็นผู้โดยสาร ผู้ให้บริการรถยนต์โดยสารผ่านแอปพลิเคชั่น ตลอดจนสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับผู้โดยสาร Ride-hailing ทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันสะดวกมากขึ้น เพิ่มความมั่นใจในการเดินทางด้วยมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐาน และสามารถเชื่อมต่อรูปแบบการเดินทางอื่นๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ผู้ขับขี่ Ride-hailing เป็นช่องทางการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และลดภาระหนี้สิน
ด้านสังคม การมี Ride-hailing ทำให้ระบบคมนาคมถูกยกระดับขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการ ทั้งการเป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ผ่านการเข้าถึงระบบคมนาคมด้วยสมาร์ทโฟน
เศรษฐกิจ Ride-hailing สร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับเศรษฐกิจทั้งรายได้โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ และรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายได้เหล่านี้กระจายสู่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม
ภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กมากขึ้น การใช้ Ride-hailing ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ลดอุปสรรคด้านภาษา และราคาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังมีการสนทนากลุ่มกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องต่าง จัดโดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC) ในประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายและสิ่งที่ควรกำหนดให้ผู้ให้บริการ Ride-hailing มี ซึ่งสรุปเป็นข้อแนะนำ ดังนี้
1.มาตรฐานความปลอดภัย ควรมีพนักงาน Call center ที่คอยรับแจ้งปัญหาและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยแอปพลิเคชั่นสามารถรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระบบเตือนภัย ระบบ Real-time GPS รวมไปถึงระบบการยืนยันตัวตนของผู้ขับขี่
2.มาตรฐานขับขี่และมาตรฐานรถยนต์ ควรมีการตรวจสอบประวัติและการอบรมผู้ขับขี่ และสำหรับรถยนต์ ประเภทและขนาดของเครื่องยนต์ไม่ควรเป็นประเด็นในการควบคุม ควรเปิดกว้างให้รถยนต์หลายประเภทให้บริการ Ride-hailing ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย
3.มาตรฐานการบริการขั้นต่ำ ทั้งการรองรับผู้โดยสารที่ครอบคลุม จำนวนผู้ขับขี่ในระบบที่เพียงพอ ความสามารถของแอปพลิเคชั่น ในการรองรับการใช้งานในวงกว้าง การชำระเงิน และระบบภาษาที่หลากหลาย
4.มาตรฐานด้านราคา ควรปล่อยให้การคิดราคาเป็นไปตามตลาด หรือ Dynamic Pricing โดยให้ตลาดหาจุดสมดุลระหว่างผู้โดยสาร และผู้ขับขี่ จูงใจให้ผู้ขับขี่เข้าสู่ระบบเมื่อมีความต้องการการใช้บริการมาก และลดค่าโดยสารลง เมื่อมีความต้องใช้บริการน้อย
5.มาตรฐานบริษัท ควรให้จดทะเบียนเป็นบริษัทไทย มีทุนจดทะเบียนที่เพียงพอ เพื่อรองรับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยไม่ส่งผลเสียให้กับผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และระบบคมนาคมโดยรวม
ที่สำคัญ ข้อมูลดิจิทัลที่เก็บได้จากแอปพลิเคชั่นยังสามารถนำมาช่วยในการวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจรและการวางผังเมืองในอนาคต
ดร.สุทธิกร ให้มุมมองถึงการประท้วงของแท็กซี่ ณ วันนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายทั้งแท็กซี่ปกติ และ Ride-hailing ก็จะมารวมกัน หากวันนี้แท็กซี่เดิมเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ก็ดึงตัวเองเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
"ผมเชื่อว่าไม่มีใครมีกำไรส่วนเกินจากการแข่งขันตรงนี้ หากบอกว่า มี Grap อยู่เจ้าเดียว ไม่จริง เราก็มี Line แท็กซี่ มี gojek มุมผมแท็กซี่เดิมก็สามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบแบบนี้ได้ อะไรที่ Ride-hailing ทำได้ แท็กซี่เดิมก็ทำได้ มีระเบียบเดียวกัน"
หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ เชื่อว่า ระยะยาวแท็กซี่จะปรับตัว และวันนี้ก็ปรับตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกลไกลตลาด ช่องทางไหนที่สร้างผลประโยชน์ สร้างผลกำไรได้ดีกว่า สร้างมาตรฐานได้ดีกว่า ก็ต้องไปทางนั้น
"ปัญหาไม่ใช่ผู้ขับขี่ แต่ผมว่า ผู้ให้บริการเช่ารถแท็กซี่ก็ต้องปรับตัวด้วย ในต่างประเทศ ผู้ขับ Grap หรือ Uber ใช่ว่า จะเป็นเจ้าของรถ เขาก็มีอู่ Grap อู่ Uber ดังนั้นทุกๆ ระดับของอุตสาหกรรมต้องปรับตัว" ดร.สุทธิกร ให้ข้อมูล พร้อมกับเชื่อว่า แท็กซี่จะมีการปรับตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ให้คนแต่ละกลุ่มค่อยๆ ขยับ
เมื่อถามถึงการขยับตัวของภาครัฐต่ออุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชั่น ผู้วิจัยเชื่อว่า ภาครัฐรู้อยู่แล้วต้องปรับ แต่ไม่รู้จะปรับอย่างไร ยิ่งเมื่อเป็นกฎระเบียบ ก็ยิ่งต้องใช้เวลา "ที่ช้าเชื่อว่า ภาครัฐคงอยากทำออกมาให้ดีที่สุด ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ คือการเจอเทคโนโลยีใหม่ๆ จะไม่กล้าเปลี่ยน หรือทำอะไรใหม่ๆ เพราะหลุดจากกรอบเดิมไป วิธีการออกกฎระเบียบจึงเป็นความยากที่จะข้ามไป แต่เมื่อเห็นมีตัวอย่างประเทศชั้นนำแล้ว ผมเชื่อว่า ภาครัฐไทยก็พร้อมที่จะปรับ"
ดร.สุทธิกร ยังให้แง่คิดถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กฎ หรือระเบียบที่ออกวันแรก ใช่ว่าจะถูกต้องหมด เราต้องคิดให้ทันและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
ขณะที่นายสุทธิชัย จงฤกษ์งาม ผู้ช่วยประธานคณะอนุกรรมการ มาตรฐานความปลอดภัย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสริมถึงงานวิจัยชิ้นนี้ที่ต้องการสื่อไปถึงภาครัฐที่ควรลงมาดูแล การให้บริการ Ride-hailing และแท็กซี่แบบเดิม ให้มีความเท่าเทียมกัน
"ที่แท็กซี่ออกมาประท้วง ผมเชื่อว่า เกิดจากการมีต้นทุนที่สูงกว่า Ride-hailing เพราะกฎหมายบังคับให้แท็กซี่ต้องติดมิเตอร์ ติด GPS ทำสีรถ รถต้องตรวจสภาพ ต้องได้รับการอบรม ต่อใบขับขี่ นี่คือต้นทุนที่สูงกว่า Ride-hailing ขณะเดียวกันการเรียกรถผ่านแอปฯ ภาครัฐก็ต้องลงมาดู ให้มีกฎหมายรองรับ จากรถยนต์ส่วนบุคคลตรวจทุก 7 ปี นี่ความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างกัน รวมไปถึงระยะเวลาของใบอนุญาตขับขี่ด้วย "
นายสุทธิชัย กล่าวทิ้งทายโดยสะท้อนไปถึงภาครัฐ อยากให้เร่งศึกษา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เรียกรถผ่านแอปฯRide-hailing ในอาเซียน ไทยติด 3 ประเทศ "สุดท้าย" ไม่มีกม.รองรับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/