พฤติการณ์ 'บิ๊กอบจ.' คดีปุ๋ยฉาวบุรีรัมย์ 328 ล.! สตง.ชี้ปล่อยปละละเลยทำรัฐเสียหาย157 ล.
"...มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ผู้บริหารระดับสูงของอบจ.บุรีรัมย์ รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้บริหารอบจ.บุรีรัมย์รายดังกล่าว อีกทั้ง สตง. เคยมีหนังสือแจ้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2557 ว่ามีการดำเนินการไม่ตรงกับข้อเท็จจริงไปแล้ว แต่กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุม หรือกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการที่กำหนด จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ..."
"กรณีกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปีงบประมาณ 2555-2557 ตรวจสอบพบว่า กลุ่มเกษตรกรต่างๆ ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เอง แต่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้ามามีส่วนได้เสียในโครงการดังกล่าว ดำเนินการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์และเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาของปุ๋ยอินทรีย์ที่แพงกว่าท้องตลาดเป็นเงิน 240 บาท/กระสอบ โดยผู้บริหารของอบจ.บุรีรัมย์ รายหนึ่ง ได้ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการเจ้าหน้าที่ อบจ.บุรีรัมย์ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการทำหลักฐานมอบฉันทะ และเบิกถอนเงินจากบัญชีของกลุ่มเกษตรกรที่รับเงินอุดหนุนมอบให้กับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของอบจ.บุรีรัมย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวน 157 ล้านบาท"
คือ สาระสำคัญในรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปี 2555-2557 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ ในการแจกจ่ายปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร วงเงินรวมกว่า 328 ล้านบาท ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตรวจสอบพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริหารระดับสูงใน อบจ. เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับประโยชน์จากกรณีนี้กว่า 157 ล้านบาท และส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการสอบสวนต่อตามอำนาจหน้าที่ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นไปแล้ว (อ่านประกอบ : สตง.อุบเงียบส่ง ป.ป.ช. สอบปุ๋ยฉาวบุรีรัมย์ 328ล.- ส.อบจ.เอี่ยวกินส่วนต่าง 240 บ./กระสอบ)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ขอนำรายงานผลสรุปการสอบสวนโครงการนี้ ของสตง.ที่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการสอบสวนต่อตามอำนาจหน้าที่ มานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
@ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)บุรีรัมย์ : กรณีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดบุรีรัมย์ ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2555 –2557
ในปีงบประมาณ 2555-2557 อบจ.บุรีรัมย์ ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่มหรือชุมชนที่เสนอโครงการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 มกราคม 2553 เรื่อง การตั้งงบประมาณรายจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยปีงบประมาณ 2555 ได้อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 316 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 65.32 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2556 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 440 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 94 ล้านบาท
ปีประมาณ2557 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกรจำนวน 313 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 168.80 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวน ทั้งสิ้น 328.22 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า อบจ.บุรีรัมย์ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่ม หรือขอสนับสนุนงบประมาณในโครงการและกิจกรรมที่กลุ่มได้ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มหรือชุมชนอันนำไปสู่การพัฒนาในโอกาสต่อไป ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 มกราคม 2553 ข้อ 3.3 จำนวน 52 กลุ่ม ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นเงินจำนวน 24.30 ล้านบาท
ในขั้นตอนการติดตามและประเมินผลของทุกปี อบจ.บุรีรัมย์ประเมินโครงการโดยวิธีสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนเงินซึ่งไม่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่แต่ละกลุ่มเสนอและไม่ได้ติดตามและประเมินผลของกลุ่มในเชิงปฏิบัติด้วย ประกอบกับโครงการมีการอุดหนุนเงินกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากและมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีการอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรในกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับการจัดตั้งกลุ่มหรือสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มได้นำปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้กับพืชผลอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในโครงการ หรือตัวแทนกลุ่มนำปุ๋ยอินทรีย์ไปขายให้กับสมาชิกกลุ่มอีกทอดหนึ่งเพื่อนำเงินเข้ากลุ่มซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ถือว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวง
มหาดไทยด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 มกราคม 2553 ข้อ 9 ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ปีงบประมาณ 2555 พบว่า กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเงินอุดหนุนมอบฉันทะให้ผู้อื่น ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ขายดำเนินการเบิกถอนเงินแทนกลุ่ม และมีเงินคงเหลือค้างไว้ในบัญชีของกลุ่มเกษตรกร จำนวน 388 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 0.60 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับใบเสร็จรับเงินที่กลุ่มรายงานผลการดำเนินโครงการ ถือว่าเป็นเงินคงเหลือที่ต้องดำเนินการส่งคืน ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 มกราคม 2553 ข้อ 8
สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปีงบประมาณ 2555-2557 พบว่า กลุ่มเกษตรกรต่างๆ ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เอง
แต่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้ามามีส่วนได้เสียในโครงการดังกล่าว ดำเนินการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์และเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาของปุ๋ยอินทรีย์ที่แพงกว่าท้องตลาดเป็นเงิน 240 บาท/กระสอบ
โดยผู้บริหารอบจ.บุรีรัมย์ ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการเจ้าหน้าที่ อบจ.บุรีรัยม์ ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการทำหลักฐานมอบฉันทะและเบิกถอนเงินจากบัญชีของกลุ่มเกษตรกรที่รับเงินอุดหนุนมอบให้กับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวน 157.50 ล้านบาท
ประกอบกับมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ผู้บริหารระดับสูงของอบจ.บุรีรัมย์ รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้บริหารอบจ.บุรีรัมย์รายดังกล่าว
อีกทั้ง สตง. เคยมีหนังสือแจ้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2557 ว่ามีการดำเนินการไม่ตรงกับข้อเท็จจริงไปแล้ว
แต่กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุม หรือกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการที่กำหนด จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
เบื้องต้น สตง. ได้ชี้มูลให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และดำเนินการทางละเมิดกับผู้บริหารระดับสูงของ อบจ.บุรีรัมย์และผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีอนุมัติงบประมาณให้กับกลุ่มหรือชุมชนในปีงบประมาณ 2555-2557 และกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงอบจ.บุรีรัมย์และเจ้าหน้าที่ มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรและดำเนินการเบิกถอนเงินในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ทำให้การจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไม่เป็นไปตามราคาท้องตลาดและเกิดผลประโยชน์ในส่วนต่างราคากับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 157.50 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ปัจจุบันผลการดำเนินการทางอาญากับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วนผลการดำเนินการทางแพ่งและวินัย อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร โปรดติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
ก.เกษตร ขยับสอบปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! พลิกจว.ตามหา'ผอ.'พัวพันคดีหายตัวปริศนา
ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน
ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ'
เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น
'ผอ.'พัวพันปุ๋ย อบจ.บุรีรัมย์ ลาออกปริศนา!เกษตรกรถูกฟ้องทวงหนี้หมื่นราย
ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.
ขมวดปม!คดีปุ๋ยบุรีรัมย์ 328 ล. ฟันส่วนต่าง 240 บ.-เอกชนฟ้องชาวบ้านนัวเนีย ใครรับผิดชอบ?
ซัดคนชั่วร้าย ทำผู้อื่นเดือนร้อน!ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ยันอนุมัติงบปุ๋ย328 ล.โดยสุจริต
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/