คำถาม-คำตอบเรื่อง "โครงสร้างดับไฟใต้" แนวคิดใหม่หรือถอยหลังตกคลอง
นาทีนี้หากพูดถึงบริบทปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่มีประเด็นไหนที่ร้อนแรงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางมากเท่ากับ "โครงสร้างใหม่ดับไฟใต้" ที่รัฐบาลกำลังออกแบบอยู่อีกแล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างที่แพลมกันออกมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้าน ถกเถียงกันจนฝุ่นตลบไปหมด
ในห้วงที่ฝุ่นควันยังไม่จาง "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ขอสรุปประเด็นคำถามที่บางฝ่ายยังค้างคาใจ และคำตอบเกี่ยวกับโครงสร้างใหม่ดับไฟใต้ ตลอดจนความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง มานำเสนอในรูปแบบ "ถาม-ตอบ" ดังนี้
O โครงสร้างใหม่จะออกมาในรูปแบบไหน?
หากประมวลจากคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) ขุนพลภาคใต้คนสำคัญของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี (ข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่น่าจะมาจาก พล.ต.นักรบ) พบประเด็นที่พออธิบายโครงสร้างใหม่ได้ดังนี้
- ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยระดับนโยบาย บูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานให้ทำงานไปด้วยกันอย่างมีเอกภาพ
- ผู้อำนวยการศูนย์คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ (หรือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ แล้วมอบ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ดูแลอีกทีหนึ่ง)
- ในระดับพื้นที่จะออกแบบโครงสร้างใหม่ให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยปฏิบัติ มีอำนาจเต็มในการสั่งการทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน
O โครงสร้างใหม่มีปัญหาประเด็นใดบ้าง?
จากคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.นักรบ เอง (ในเว็บอิศรา) ยอมรับว่ามีปัญหาความไร้เอกภาพของหน่วยระดับปฏิบัติ อันสืบเนื่องจากกฎหมาย 2 ฉบับซึ่ง พล.ต.นักรบ ใช้คำว่า "ยังขี่กันอยู่" คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเป็นกฎหมายรองรับอำนาจ กอ.รมน.) กับ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.เป็นกฎหมายรองรับอำนาจศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ – ศอ.บต.)
ข้อใหญ่ใจความก็คือ กฎหมาย ศอ.บต.ออกแบบให้มีโครงสร้างอำนาจหน้าที่และการบังคับบัญชาเทียบเท่า กอ.รมน. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการโดยตำแหน่งเหมือนกัน (ทั้ง ผอ.รมน. และ ผอ.ศอ.บต.คือนายกฯโดยตำแหน่ง) ขณะที่เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 11
จุดนี้เองที่ฝ่ายทหาร (กอ.รมน.) มองว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่ยังไม่เป็นเอกภาพ เพราะ ศอ.บต.กลายเป็นองค์กรที่มี "แท่งการบริหาร" คู่กับ กอ.รมน.แต่รับผิดชอบภารกิจคนละด้าน กล่าวคือ กอ.รมน.รับผิดชอบภารกิจด้านความมั่นคง ส่วน ศอ.บต.รับผิดชอบภารกิจด้านการพัฒนาและการให้ความเป็นธรรม หากไม่ประสานงานกันให้ดี การทำงานอาจจะส่งผลขัดแย้งกันเองได้
ในสายตาของ กอ.รมน.มองว่าบทบาทของ ศอ.บต.ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างสวนทางกับฝ่ายความมั่นคง และทำให้ฝ่ายความมั่นคงทำงานยาก เช่น การออกระเบียบ กพต.(คณะกรรมยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) ให้จ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ถูกกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากเสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุดถึง 7.5 ล้านบาท และยังออกกฎเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ถูกจับกุมตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่ไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีแล้วศาลยกฟ้องด้วย
ภาพจึงกลายเป็นว่า กอ.รมน.เป็นฝ่ายละเมิด เสมือนหนึ่งเป็นผู้ร้าย ส่วน ศอ.บต.เป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือ เสมือนหนึ่งเป็นพระเอก
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณ ซึ่งกฎหมาย ศอ.บต.เปิดช่องให้สามารถตั้งงบประมาณได้เอง จากเดิมที่ต้องเบิกจ่ายผ่าน กอ.รมน.(ทำให้ กอ.รมน.ควบคุมทิศทางการใช้งบประมาณและการจัดทำโครงการต่างๆ ได้ทั้งหมด) แต่ปัจจุบัน ศอ.บต.มีงบของตัวเอง คิดและทำโครงการได้เอง ซึ่งบางส่วนอาจจะไม่สอดคล้องกับทิศทางของ กอ.รมน. และที่สำคัญงบประมาณส่วนใหญ่ของ ศอ.บต. ก็เฉือนไปจากงบพัฒนาของ กอ.รมน.ที่ได้อยู่แต่เดิมนั่นเอง ทำให้ กอ.รมน.ได้รับงบประมาณลดลงจากปีละราว 8 พันล้านบาท เหลือปีละ 6 พันล้านบาท
O ทางออกในเรื่องนี้จะทำอย่างไร?
ทางออกของฝ่าย กอ.รมน.คือ หากจะจัดทำโครงสร้างระดับพื้นที่โดยให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดไปเลย ก็จะกลายเป็นลักลั่น เพราะโดยตำแหน่งแล้ว เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการระดับ 11 ส่วนตำแหน่งแม่ทัพ น่าจะเทียบได้กับข้าราชการพลเรือนระดับ 10 เท่านั้น
ขณะเดียวกัน หากออกแบบโครงสร้างได้ไม่ดี อาจถูกยื่นตีความว่าขัดต่อกฎหมาย ศอ.บต.ที่ให้อำนาจทั้ง ศอ.บต.และการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ด้วย (การจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ ก็จัดทำตามกฎหมายฉบับนี้)
ด้วยเหตุนี้ กอ.รมน.จึงเตรียมจัดทำ “คำสั่งพิเศษ” คือเป็นคำสั่งทางนโยบายให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทุกหน่วยงานในภารกิจด้านความมั่นคง ซึ่งโดยนัยคือควบคุม ศอ.บต.อีกทีหนึ่ง แต่เลี่ยงที่จะพูดถึงภารกิจด้านการพัฒนาและให้ความเป็นธรรม เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย
O โครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างใหม่จริงหรือไม่ เหตุใดจึงมีบางฝ่ายวิจารณ์ว่าย้อนยุค?
โครงสร้างลักษณะนี้ไม่ใช่โครงสร้างใหม่ เพราะ กอ.รมน.เคยเสนอรัฐบาลให้จัดทำโครงสร้างโดยอ้างเหตุผลเรื่องความเป็นเอกภาพ ในที่ประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อปลายเดือน ก.ย.2554 มาแล้ว (หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศได้ประมาณ 1 เดือน)
จากนั้นช่วงกลางเดือน ต.ค.2554 ก็มีการทำเวิร์คชอปที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยมาระดมสมองและรับทราบแนวทาง สรุปก็คือจะมีโครงสร้างเป็น "บอร์ด" หรือคณะกรรมการระดับนโยบาย ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน กับบอร์ดระดับพื้นที่ ชื่อว่า คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต.มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน
ส่วน ศอ.บต.ตามโครงสร้างดังกล่าว ให้ย่อยเป็น "ศอ.บต.ส่วนแยก" ขึ้นกับ กบชต. (โดยนัยคือ กอ.รมน.ภาค 4) ที่มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน ส่วนเลขาธิการ ศอ.บต. (ข้าราชการระดับ 11) ให้นั่งทำงานอยู่ที่ส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย ศอ.บต. โดยโครงสร้างที่ออกแบบดังกล่าว ได้จัดทำเป็นคำสั่งเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม แต่เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
จริงๆ แล้วโครงสร้างที่ว่านี้เหมือนกับยุคที่ยังไม่มี ศอ.บต. คือช่วงปี 2549 (หลังการรัฐประหาร) ถึงปี 2553 โดย กอ.รมน.(หรือกองทัพบกในหมวก กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบทั้งภารกิจความมั่นคงและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ฉะนั้นโครงสร้างใหม่ที่รัฐบาลจะประชุมกันในวันพุธที่ 8 ส.ค.นี้ หากออกมาในรูปนี้ ย่อมหมายถึงโครงสร้างเก่าที่เคยใช้มาช่วงหนึ่งในอดีต ไม่ใช่โครงสร้างใหม่แต่อย่างใด
และที่น่าแปลกใจก็คือ หากรัฐบาลต้องการใช้โครงสร้างนี้ เหตุใดจึงไม่ใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2554 ตามที่ กอ.รมน.เสนอคำสั่งมา แต่กลับทอดเวลาถึงเกือบ 1 ปี กระทั่งเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในช่วงรอมฎอนปี 2555 รัฐบาลจึงเพิ่งถามหาโครงสร้างใหม่
O ความเห็นของหน่วยปฏิบัติ โดยเฉพาะหน่วยที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร?
ในส่วนของตำรวจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ว่าสนับสนุนแนวคิดให้แม่ทัพภาคที่ 4 มีอำนาจเต็มในภารกิจดับไฟใต้ เสมือนหนึ่งเป็น "ซีอีโอ" แต่เพียงผู้เดียว โดย ศอ.บต.ควรอยู่ใต้ร่ม กอ.รมน. และให้ศูนย์ปฏิบัติการระดับชาติ กำกับดูแลด้านนโยบายและการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อสรรหาคนดีลงไปทำงาน เสมือนหนึ่ง "โค้ช" ทีมฟุตบอล
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เรื่องโครงสร้างการบริหารงานคงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล แต่งานด้านการพัฒนาและให้ความเป็นธรรม กฎหมายเขียนชัดว่าเป็นงานของ ศอ.บต. รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.ทวี บอกว่า หากรัฐบาลต้องการจัดโครงสร้างการบริหารตามที่เป็นข่าวจริง ก็สามารถทำได้ โดยให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดเฉพาะภารกิจด้านความมั่นคง ซึ่งอาจทำเป็นคำสั่งแล้ววงเล็บเอาไว้ว่าเฉพาะงานด้านความมั่นคง
"ในส่วนของงานความมั่นคง ผมก็ให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้นำอยู่แล้ว" พ.ต.อ.ทวี ย้ำ
ขณะที่ฝ่ายการเมืองอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า แนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนแนวทางที่เคยทำและออกแบบเอาไว้ คือ ศอ.บต.รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ส่วน กอ.รมน.รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
แต่กระนั้น รัฐบาลชุดนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับรัฐบาลชุดที่แล้ว เพียงแต่ต้องทำความชัดเจนให้ได้โดยเร็วว่าจะเลือกแนวทางไหน จะใช้ทหารเป็นหลักแบบโครงสร้างเดิมเมื่อปี 2551 หรือจะเดินหน้าให้ ศอ.บต.มีอำนาจหน้าที่ด้านการพัฒนาและให้ความเป็นธรรมเหมือนปัจจุบันก็ได้ เพียงแต่ต้องสรุปให้ได้โดยเร็ว เพราะดูเหมือน 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความชัดเจน จนส่งผลกระทบต่อภาพรวมการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
O คนในพื้นที่คิดอย่างไร โครงสร้างใหม่จะแก้ปัญหาได้หรือไม่?
แหล่งข่าวระดับสูงจาก ศอ.บต.ที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างการบริหารงานในภารกิจดับไฟใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลทุกชุดได้ออกแบบและปรับปรุงโครงสร้างองค์กรการบริหารมาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ครั้ง 8 องค์กร โดยให้น้ำหนักแตกต่างกันไป บ้างก็เน้นภารกิจด้านความมั่นคง บ้างก็เน้นภารกิจด้านการพัฒนา แต่เหตุรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่จังหวะและโอกาสของผู้ก่อเหตุรุนแรง
ฉะนั้นหากวิเคราะห์ในมุมนี้ ก็สามารถสรุปได้ว่า โครงสร้างการบริหารงานไม่ว่ารูปแบบใด ไม่มีผลต่อทัศนะของผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ได้อย่างยั่งยืน คือการลดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงขบวนการก่อความไม่สงบ นั่นคือการให้ความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและการค้าของผิดกฎหมาย โต๊ะพนันฟุตบอล การศึกษา และการพัฒนาให้เท่าเทียมกับภูมิภาคอื่น รวมทั้งมาเลเซีย
ความเห็นของแหล่งข่าวระดับสูงจาก ศอ.บต. สอดคล้องกับความเห็นของชาวบ้านที่ให้ข้อมูลกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่เดินทางลงพื้นที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา กล่าวคือ ชาวบ้านระบุว่าปัญหาจริงๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญคือปัญหาสังคม โดยเฉพาะยาเสพติด จึงอยากให้รัฐส่งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นเข้าไปในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดและดูแลเยาวชนไม่ให้ตกเป็นทาสยาเสพติดรวมทั้งการถูกชักจูงจากกลุ่มขบวนการ
"ยาเสพติดเป็นต้นเหตุของทุกปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงต่างๆ อยากให้รัฐส่งตำรวจเข้าไปทุกหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามเยาวชนให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง และแก้ไขปัญหาสังคมซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่นี้"
ถือเป็นคำตอบสุดท้ายจากปากของคนในพื้นที่เอง ซื่งไม่ได้เอ่ยถึงโครงสร้างการบริหารใหม่ที่กำลังฝุ่นตลบอยู่ในส่วนกลางเลยแม้แต่คำเดียว!