หมอประเวศแนะทำ “แผนที่ครูภูมิปัญญา” ไม่ให้ถูกลืม
สกศ.เผยครูภูมิปัญญาเหลือแค่ 315 คน ปราชญ์ชาวบ้านบอกครูสอนเลี้ยงควาย-ไถนากำลังสูญ อนาคตอาจต้องซื้อข้าวต่างชาติกิน ราษฎรอาวุโสแนะส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา รมว.วธ.เร่งสำรวจจำนวนปราชญ์ชาวบ้าน
นายมนัส ปานขาว ครูภูมิปัญญาไทยในฐานะปราชญ์ชาวบ้านด้านความเชื่อท้องถิ่น เปิดเผยเนื่องในวันครูแห่งชาติ 16 ม.ค.ว่าครูภูมิปัญญาถูกลืมจากระบบของคำว่า “ครู” โดยเฉพาะหน่วยงานราชการไม่ได้ให้ความสำคัญนัก และนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ยอมรับว่าครูภูมิปัญหาถูกลืมจากสังคมจริง ซึ่งได้หารือร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนอแนะว่า วธ.ควรรือฟื้นครูภมิปัญญาให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของสังคม อาจจะจัดทำแผนที่ครูภูมิปัญญา ส่งเสริมเส้นทางแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาให้เด็ก นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่สอนในโรงเรียนเป็นบางชั่วโมง ซึ่ง รมว.วธ.ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) เร่งสำรวจข้อมูลครูภูมิปัญญาไทยว่าขณะนี้มีจำนวนมากน้อยเพียงใด
ดร.นพ มณฑล สิบหมื่นเปี่ยม นักวิชาการศึกษา สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) กล่าวว่า สกศ.ได้ยกย่องครูภูมิปัญญาไทยจากทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2544-2552 แล้ว6 รุ่น 341 คน ขณะนี้เสียชีวิตไปแล้ว 26 คน เหลือ 315 คน เมื่อจำแนกตามสาขาจะเหลือครูภูมิปัญญาไทย สาขาเกษตรกรรม 49 คน, อุตสาหกรรมและหัตถกรรม 25 คน, การแพทย์แผนไทย 30 คน, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 26 คน, กองทุนและธุรกิจชุมชน 23 คน, สาขาศิลปกรรม 93 คน, ภาษาและวรรณกรรม 30 คน, ปรัชญาศาสนาและประเพณี 31 คน และสาขาโภชนาการเพียง 8 คนเท่านั้น
ด้านนายแดง มาราศรี อายุ 62 ปี ครูภูมิปัญญาไทยด้านการฝึกควายไถนาและฝึกเกษตรกรไถนา โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว กล่าวว่าครูภมิปัญญาด้านนี้ถูกลืมไปแล้วมากกว่า 70 % เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรหันไปใช้เทคโนโลยี เช่น รถไถนา ส่งผลให้ภูมิปัญญาด้านนี้ลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงห่วงครูภูมิปัญญาไทย โดยเฉพาะครูสอนไถนาว่าจะหายไปจากสังคมไทย จึงทรงมีพระราชดำริตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำนาใช้แรงงานควายเหมือนสมัยโบราณให้คนรุ่นใหม่
"เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวได้เร็ว แต่ต้นทุนสูงทั้งค่าน้ำมัน ซ่อมบำรุง แต่ควายตัวละหมื่นกว่าบาท ขี้ควายก็กลายเป็นปุ๋ยดีด้วย พอ 10 ปีให้ลูก 10 ตัว สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก ผมห่วงว่าหากคนไทยไม่เรียนรู้ภูมิปัญญาเลี้ยงควายสอนควายไถนา อนาคตอาจต้องซื้อข้าวประเทศเพื่อนบ้านกิน จึงอยากให้รัฐบาลหันมาสนใจภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ตอนนี้รับแต่วัฒนธรรมต่างชาติ อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดูแล" ครูภูมิปัญญาสอนควาย กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.google.co.th/images?q=คนกับควาย