เบื้องลึก! ปค.ประสาน 'ดีเอสไอ-ป.ป.ช.' สอบ บ.แจ๊คสันฯ ขาย ALPHA 6 บิ๊กล็อต 542 เครื่อง
"..จากการสอบสวนของ สตง. พบว่า ในการเข้าประกวดราคาแข่งขันงานขาย เครื่องอัลฟา 6 ให้กรมการปกครอง ในสัญญาต่างๆ เมื่อบริษัท ยูจีซี ฯ ปรากฎชื่อเป็นผู้ชนะ ก็จะไปสั่งซื้อสินค้าต่อจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ไปซื้อสินค้าต่อจากบริษัท แจ๊คสัน ฯ ที่เข้าร่วมในการเสนอราคาด้วย มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาด้วยกัน..."
หากสาธารณชนยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำข้อมูลผลสรุปการสอบสวนการจัดซื้อเครื่องตรวจหาระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง จำนวน 2 สัญญา วงเงินกว่า 328 ล้าน ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ส่งเรื่องให้ กรมการปกครอง ดำเนินการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินการทางวินัยแก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ รวมถึงหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งมานำเสนอไปแล้ว
โดยในรายงานผลการสอบสวนดังกล่าว มีการระบุถึงข้อมูลความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประกวดราคาพร้อมกัน ข้อมูลเส้นทางการนำเข้าเครื่อง ALPHA 6 มาประกอบในประเทศไทย รวมไปผลการตรวจสอบการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง ALPHA 6 ที่ไม่พบว่ามีการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสม และไม่พบการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่อง ALPHA 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ ชี้ให้เห็นว่า เครื่อง ALPHA 6 ไม่มีการทำงานโดยใช้ไฟฟ้าสถิตจากมนุษย์ตามคุณสมบัติของเครื่องที่ผู้ขายแสดงไว้และที่เป็นข้อกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญในการจัดซื้อ
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อ เครื่อง ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง ทั้ง 2 สัญญา วงเงินกว่า 328 ล้าน ดังกล่าว เป็นการจัดซื้อในช่วงปี 2552 จาก บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 33,450,000 บาทและบริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด วงเงิน 349,430,500 บาท
เบื้องต้น มีข้อมูลปรากฎว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเรื่องการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ทั้ง 2 สัญญา ไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว ตามหมายเลข 221/2555 นับรวมจำนวนเครื่องที่จัดซื้อ 542 เครื่อง สัญญาจัดซื้อจาก บ.ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 530,952 บาท สัญญาจัดซื้อจาก บ.เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด อยู่ที่ 729,500 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 328,880,500 บาท (อ่านประกอบ : ข้อมูลลับ ปค.จัดซื้อ ‘ALPHA 6’ 328 ล.- ผู้ชนะซื้อของคู่เทียบ–ต้นทุน 1 พัน ขายต่อ 5 แสน)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในการสอบสวนคดีการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง ยังมีข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับ บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีความเชื่อมโยงกับการขายเครื่อง ALPHA 6 จำนวน 542 เครื่อง ในฐานะตัวละครเอกเรื่องนี้ รวมอยู่ด้วย
โดยปรากฎข้อมูลว่า ในช่วงเดือน ก.ย. 2561 สตง. ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อแจงติดตามความคืบหน้าผลตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจหาระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ ALPHA 6 ของ กรมการปกครอง หลังจากแจ้งผลการตรวจสอบให้ดำเนินการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัท แจ็คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมดำเนินการทางวินัยแก่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ รวมถึงหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง ซึ่งเบื้องต้น กรมการปกครอง แจ้งตอบกลับว่า ได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา โดยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้ว รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้างแรงกับข้าราชการจำนวน 4 ราย แต่ระยะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว สตง.ยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินการทางละเมิดแต่อย่างใด
สตง. จึงขอให้กรมการปกครองพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้สตง.ทราบโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร อธิบดีกรมการปกครอง อาจถูกลงโทษทางปกครอง ตามมาตรา 96 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ด้วย (อ่านประกอบ : ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6)
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลปรากฎว่า ในส่วนการดำเนินงานของกรมการปกครอง นั้น ได้มีหนังสือแจ้งถึง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อมอบอำนาจให้ร้องทุกข์เพิ่มเติมกับ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามรายงานผลการสอบสวนของ สตง. เกี่ยวกับการสอบสวนกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจหาทิศทางระเบิดหรือยาเสพติดแบบมือถือ (ALPHA 6) ของ กรมการปกครอง จำนวน 2 ครั้ง รวม 542 เครื่องแล้ว พบว่า บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งอธิบดีกรมการปกครอง ได้มอบอำนาจให้ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักการสอบสวนและนิติการ เป็นผู้ร้องทุกข์และ/หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีดีเอสไอ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนิติบุคคลและ นายหยาง เชียะ เชียง ในฐานะส่วนตัวรวมทั้งบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกข้อหาความผิดที่เกิดขึ้น จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย.2560 ที่ผ่านมาแล้ว พร้อมอนุมัติรับเป็นคดีพิเศษที่ 231/2560 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560
จากนั้น ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษคดีนี้ ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอาจหน้าที่ โดยสำนักงานป.ป.ช.รับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2562 เนื่องจากความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงที่ ดีเอสไอ ทำการสอบสวนอยู่นั้น อาจเกี่ยวข้องและเป็นการกระทำในคราวเดียวกันกับความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ก่อนที่ในเวลาต่อมา สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีหนังสือแจ้งถึง ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ให้รับทราบมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ส่งเรื่องกล่าวหาบริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ เอส แอล เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกันฉ้อโกงกรมการปกครองคืนให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งดีเอสไอ ได้มอบหมายกองคดีความมั่นคงเป็น ผู้รับผิดชอบ และดำเนินการสอบสวนอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มาเกี่ยวข้องกับการขายเครื่อง ALPHA 6 ให้กับ กรมการปกครอง ได้อย่างไรนั้น
มีข้อมูลยืนยันว่า ในการสอบสวนคดีการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 นั้น ดีเอสไอ ตรวจสอบพบว่า บริษัท คอมส์แทร็ค ประเทศอังกฤษ ของนายเจมส์ แมคคอร์มิค อดีตนักธุรกิจชาวอังกฤษ (ถูกศาลอังกฤษสั่งยึดทรัพย์ไปแล้ว) ได้แต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย 2 บริษัท คือ บริษัท แจ็คสัน อีเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ.เอส.แอล.เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด
ต่อมา บริษัท เอ.เอส.แอล.เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด ได้ตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่าย เพื่อกระจายการขายไปในหลายพื้นที่ อาทิ บริษัท ยูซีจี เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด บริษัท เอ็มแลนด์ดาร์ช จำกัด บริษัท เปโตร กรุงเทพ จำกัด และ บริษัท เทคโนไซ จำกัด
ขณะที่ ผลการตรวจสอบข้อมูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า บริษัทเอกชนเหล่านี้ ปรากฎชื่อเข้าเป็นคู่แข่งขันเสนอราคาขายเครื่องจีที200 และ อัลฟ่า 6 ให้หน่วยงานราชการพร้อมกัน หลายโครงการ
อาทิ การจัดซื้ออัลฟา 6 จำนวน 63 ชุด ของ กรมการปกครอง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) ซึ่งมี 2 บริษัทเข้าร่วมเสนอราคา คือ บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท แจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยูจีซี ฯ เสนอราคา 33,500,000 บาท ราคาต่อเครื่อง 530,952 บาท ส่วน บริษัท แจ๊คสัน ฯ เสนอราคา 33,508,000 บาท ราคาต่อเครื่อง 531,873 บาท ทั้งนี้ บริษัท ยูจีซี ฯ ลดราคาเหลือ 33,450,000 บาท จึงได้รับการคัดเลือก
การจัดซื้ออัลฟา 6 จำนวน 17 เครื่องของ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ด้วยวิธีการอี-ออคชั่น มีบริษัท ยูจีซี ฯ และบริษัท แจ๊คสัน ฯ ร่วมเสนอราคา โดย บริษัท ยูจีซี ฯ เสนอราคา 31,460,000 บาท ราคาต่อเครื่อง 1,850,588 บาท ส่วนบริษัท แจ๊คสัน ฯ เสนอราคา 31,470,000 บาท ราคาต่อเครื่อง 1,851,176 บาท ดังนั้น บริษัทยูจีซีฯได้รับการคัดเลือก
ขณะที่ จังหวัดภูเก็ต จัดซื้อเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 ใช้วิธีการสอบราคา จัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 จำนวน 2 เครื่อง มีบริษัทยูจีซีฯและบริษัทแจ๊คสันฯร่วมเสนอราคา โดยบริษัทยูจีซีฯเสนอราคา 1,100,000บาท ราคาต่อเครื่อง 550,000 บาท ส่วนบริษัทแจ๊คสันฯเสนอราคา 1,391,000 บาท ราคาเครื่องละ 695,500บาท ดังนั้น บริษัทยูจีซีฯจึงได้รับการคัดเลือก
ส่วนตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จัดซื้อเมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2552 ด้วยวิธีการสอบราคา มีบริษัทยูจีซีฯและบริษัทแจ๊คสันฯร่วมเสนอราคา โดยบริษัทยูจีซีฯเสนอราคา 1,106,000บาท ราคาต่อเครื่อง 550,000 บาท ส่วนบริษัทแจ๊คสันฯเสนอราคา 1,360,000 บาท ราคาเครื่องละ 680,000บาท ทั้งนี้บริษัทยูจีซีฯลดราคาเหลือ 1,100,000 บาท จึงได้รับการคัดเลือก เป็นต้น
แต่จากการสอบสวนของ สตง. พบว่า ในการเข้าประกวดราคาแข่งขันงานขาย เครื่องอัลฟา 6 ให้กรมการปกครอง ในสัญญาต่างๆ เมื่อบริษัท ยูจีซี ฯ ปรากฎชื่อเป็นผู้ชนะ ก็จะไปสั่งซื้อสินค้าต่อจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ไปซื้อสินค้าต่อจากบริษัท แจ๊คสัน ฯ ที่เข้าร่วมในการเสนอราคาด้วย มาขายให้กรมการปกครอง ซึ่งมีพยานหลักฐานการนำเข้าสินค้าและใบเสร็จรับเงินจากกรมศุลกากรและใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้เสนอราคาด้วยกัน (ดูอินโฟประกอบ)
นั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คดีการจัดซื้อ เครื่องอัลฟา 6 ของกรมการปกครอง รวมจำนวนกว่า 542 เครื่อง ขยายผลไปถึงเรื่องการฉ้อโกง และคดีฮั้ว จึงต้องมีการสอบสวน บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะตัวละครเอกของเรื่องนี้ด้วย
ส่วนบทสรุปสุดท้ายคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
อ่านประกอบ :
ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6
ตามไปดูบ.เอวิเอ หลังแพ้คดีขายจีที200 -รปภ.ปัดไม่รู้จักผู้บริหารโดนโทษจำคุกคนเดียว19 ปี
ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
ย้อนข้อมูล บ.เอวิเอฯ คู่ค้ากองทัพอื้อ1.3 พันล. ก่อนกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/