ครูแดนกันดาร-เสี่ยงภัย ได้รับเชิดชู “ยอดครู”
สพฐ.เชิดชูพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ชุมชน-สังคม ประกาศรางวัล 4 “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” จากภาคละ 1 คน พร้อมเข้ารับรางวัลจากนายกฯในวันครู 16 ม.ค.นี้
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดมอบรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ในโครงการ “ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู” เพื่อยกย่องครูที่จิตวิญญาณ ปฏิบัติตนปฏิบัติงานเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ทุ่มเทพัฒนาการศึกษาชุมชนและประเทศ ซึ่งได้มอบให้กับ “ครูจูหลิง ปงกันมูล” เป็นรายแรกในปี 2550 และจัดต่อเนื่องมา
“ครูจำนวนมากมายที่มีความศรัทธาในวิชาชีพ อดทนและรับผิดชอบ เสียสละ ที่สำคัญคือรัก เมตตา ปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม แบ่งครึ่งชีวิตให้กับตนเองและสังคม เป็นต้นแบบและสร้างค่านิยมที่ดีให้สังคม สพฐ.ขอเป็นกำลังใจและพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นายชินภัทร ยังกล่าวว่า สพฐ.ยังจัดโครงการ “ครูดีในดวงใจ” ปี 2554 โดยแบ่ง 1.ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แบ่งเป็นปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 744 คน 2.ระดับ สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 คน และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 คน ทั้งสิ้น 186 คน ซึ่งทั้งหมดที่ผ่านการสรรหาคัดเลือกและจะเข้ารับรางวัลเข็มทองคำเชิดชูเกียรติ “ครูดีในดวงใจ” โล่รางวัลและเกียรติบัตรจากนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันครูที่ 16 ม.ค.
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ปี 2554 ประกอบด้วย น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน ผอ.ร.ร.บ้านสล่าเจียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บรรจุเป็นครูตั้งแต่ปี 2534 และย้ายมาประจำที่ รร.บ้านสล่าเจียงตั้งแต่ปี 2539 ขณะนั้นเป็นโรงเรียนกลางหุบเขาในป่าลึกติดชายแดนพม่า มีนักเรียนเป็นชาวเขา 160 คนที่ต้องเดินเท้ามาเรียนไกล คุณครูไม่ย้อท้อแม้จะมีอุปสรรคมากมาย เช่น ความแตกต่างทางเชื้อชาติภาษาวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เด็กๆมีโอกาสเรียนต่อ พัฒนาโรงเรียนจนเป็นที่ยอมรับจากชุมชนและได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก เช่น บริจาคซื้อที่ดินสร้างอาคารเรียน อาคารนอน
นายศรัทธา ห้องทอง ผอ.ร.ร.บ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา ซึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขาประสบปัญหาการพังทลายของดินเป็นบางช่วง และยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปี 2550 เคยถูกลอบวางเพลิง แต่ชุมชนช่วยกันดับไฟได้ทัน ปัจจุบันในโรงเรียนก็ยังต้องมีฐานหน่วยทหารตั้งอยู่ 1 หมวดเพื่อความปลอดภัย ที่นี่ชาวบ้านเป็นไทยมุสลิมทั้งหมด ส่วนครูในโรงเรียนเป็นไทยพุทธ แต่อยู่ร่วมกันได้และร่วมกับชุมชนทำกิจกรรมพัฒนาต่างๆจนได้รับยกย่องเป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง เป็นโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ
นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผอ.ร.ร.ศึกษานารี เขตธนบุรี กทม. จากการบริหารงานโรงเรียนต่างๆที่ผ่านมาทั้ง ร.ร.ถาวรานุกูล สมุทรสงคราม ร.ร.ราชินีบูรณะ นครปฐม ร.ร.ศึกษานารี แต่ละโรงเรียนประสบปัญหาต่างๆมากมายหลายด้าน เช่น นักเรียนยากจน ปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าว ขาดแคลนอาคารสถานที่ แต่คุณครูก็ทุ่มเทเสียสละ เช่น จัดหาทุนสร้างอาคารเรียน พัฒนาโรงเรียนจนได้รับรางวัลต่างๆ
นางศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.บ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็นครูผู้หญิงคนแรกของโรงเรียน ปี 2523 ต้องเดินทางด้วยเท้าเท่านั้น มีไข้มาลาเรียไข้เลือดออกระบาด คุณครูร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาวิจัยภาษาวัฒนธรรมชาวญัฮกุรซึ่งเป็นชุมชนภูเขาที่นั่น สร้างแบบเรียนท้องถิ่นจากแต่ก่อนที่มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน ยังมีการจัดระบบดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ทำให้ได้รับการยอมรับจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานทั้งภายในและต่างประเทศ .
ที่มาภาพ : http://www.google.co.th/images?q=ครูชนบท