เปิด 3 กรณีศึกษา ‘พระเครื่อง’ ฟอกเงินคดีรวยผิดปกติ - ติดสินบน
พระเครื่องกับนักการเมือง! พลิก 2 กรณีศึกษา‘พระสมเด็จดัง-เหรียญล้ำค่า’ ฟอกเงินคดีรวยผิดปกติ อดีตซี 9 โยธาฯ-อธิบดีกรมธนารักษ์ ก่อนศาลยึดทรัพย์ ไม่นับ ‘วัฒนา’ ใช้พระเครื่องผงสุพรรณ ติดสินบน จนท. ออกโฉนด คลองด่าน 1,900 ไร่
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพยสินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดที่มีเข้ารับตำแหน่ง 25 พ.ค.2562 ล็อตสุดท้าย จำนวน 80 ราย
ปรากฎว่า ส.ส.บางคนแจ้งว่ามีทรัพย์สินประเภท เหล็กไหล อุกาบาต มูลค่านับพันล้านบาท บางคน มีพระเครื่อง พระกิ่ง องค์ละ 30- 50 ล้านบาท ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าการแสดงมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวเกินมูลค่าที่แท้จริงหรือมีเจตนาแฝงเร้นหรือไม่ ?
ล่าสุด 23 ก.ย.2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ 2 นักการเมืองว่าถูกต้องหรือไม่ ต้องรอดูการตรวจสอบของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.กันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่หลายคนกล่าวกันมากก็คือ กรณีการเอา ‘พระเครื่อง’ มาใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินคดีรวยผิดปกติ มีหรือไม่และมีรูปแบบ อย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา www.isnews.org สืบค้นข้อมูลมารายงาน
ในอดีต มีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 2 คดี นายช่างโยธาระดับ 9 กรมโยธาธิการ รวยผิดปกติ และคดี อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ รวยผิดปกติรายละเอียดดังนี้
1.คดีนายช่างโยธาระดับ 9 กรมโยธาธิการ รวยผิดปกติ
ปี 2534 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (คณะกรรมการป.ป.ป.) ได้รับบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนนายสมภพ อุณหวัฒน์ มีพฤติการณ์รวยผิดปกติ โดยจัดฮั้วและเรียกผลตอบแทนจากผู้รับเหมาและมีเงินฝากจำนวนมาก
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ป.แต่งตั้งอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่าทรัพย์สินของนายสมภพที่ได้มาระหว่างปี 2531 - 2535 มีถึง 80 ล้านบาท
วันที่ 29 มิ.ย. 2537 คณะกรรมการ ป.ป.ป. ชี้มูลว่านายสมภพร่ำรวยผิดปกติ ได้แก่ บ้านพร้อมที่ดิน ที่ดินหลายแปลง รถยนต์ หุ้นบริษัท วิเศษคอนกรีต จำกัด บริษัท ปันนา จำกัด และเงินฝากธนาคารในชื่อของภรรยาและบุคคลใกล้ชิด รวม 19 รายการ
นายสมภพชี้แจงว่านอกจากมีรายได้จากเงินเดือน และเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทรับเหมา แล้วยังมีรายได้จากกำไรการซื้อขายพระเครื่อง 3 องค์ คือ
1.ขายสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์เกศบัวตูมให้นายไพฑูรย์ แก้วทอง (อดีต ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของบริษัทสระหลวงก่อสร้าง) 2.ขายสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์เส้นด้ายใหญ่ให้นายทรงศักดิ์ ตันติเตมิท และ 3.ขายสมเด็จพิมพ์ฐานแซมให้นายสมชาติ ตันติเตมิท รวมไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งหมดกว่า 13.7 ล้านบาท
แต่ทว่า ในชั้นศาล นายไพฑูรย์เบิกความว่าได้ซื้อ “สมเด็จบางขุนพรหมฐานแซม” จากนายสมภพ ส่วนนายทรงศักดิ์เบิกความว่า ซื้อพระรอดพิมพ์ตื้นจากนายสมภพ
เท่ากับคำเบิกความของบุคคลทั้งสองขัดแย้งกัน
ศาลแพ่งมีคำพิพากษาวันที่ 6 ก.พ. 2547 ยึดทรัพย์นายสมภพ 73.5 ล้านบาท ยกเว้นบ้านและที่ดินรายการเดียวเท่านั้นที่ศาลเชื่อว่ามีมูลค่าพอสมควรกับรายได้ของนายสมภพ
2. คดีนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์
นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ชี้มูลทุจริตกรณีโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ มูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท
@ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต
นายนิพัทธ ถูกตรวจสอบพบว่าได้รับเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) รวม 20 ล้านบาท จากบัญชีพนักงานบริษัท ทานตะวันธุรกิจ จำกัด ในเครือบริษัท ซันเอสเตท จำกัด ผู้ชนะประมูลโครงการพัฒนาที่ดินตลาดหมอชิต นายนิพัทธออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้มาจากการขายพระเครื่อง แต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด แต่ทว่า ‘เสี่ยน้ำ มหฐิติรัฐ’ เจ้าของบริษัทซันเอสเตท ได้ออกมายอมรับว่าเป็นผู้จ่ายเช็คให้แก่นายนิพัทธจำนวน 30 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นค่าซื้อเหรียญรัชกาลที่ 5 หลายเหรียญ รวมทั้งเหรียญทองคำจำนวนหนึ่ง
คดีนี้นายนิพัทธถูกดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรง ต่อมาถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ 49 ล้านบาท แต่มีอำนาจอีกครั้งในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ริบทรัพย์สิน จำนวน 49 ล้านบาท ของนายนิพัทธ ให้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว (อ่านประกอบ:ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนริบทรัพย์สิน 49 ล้าน 'นิพัทธ พุกกะณะสุต' ร่ำรวยผิดปกติ)
นอกจากนี้ 2 กรณีดังกล่าว ยังมีกรณีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐด้วยพระเครื่อง คือ คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองค่าน จ.สมุทรปราการ
คดีนี้ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยคดีทุจริตออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2551 จำคุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี ในข้อหาใช้อำนาจข่มขืนใจหรือบังคับซื้อที่ดินจากชาวบ้านและบังคับเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ และให้ริบพระเครื่องผงสุพรรณเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอีกด้วย
@ นายวัฒนา อัศวเหม
สรุปจากคำพิพากษาก็คือ นายวัฒนาได้มอบพระเครื่องผงสุพรรณให้เจ้าหน้าที่ 3 คนเป็นสินน้ำในเพื่อแลกกับการออกโฉนดที่ดิน กล่าวคือ
ช่วงกลางปี 2536 หลังจากพ้นตำแหน่งรมช.มหาดไทย นายวัฒนาได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้เรียกนายอนันต์ อนันตกูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายผัน จันทรปาน อธิบดีกรมที่ดิน (อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรซุกหุ้น ภาค 1 ) ไปพบที่โรงแรมปริ๊นเซส นายอนันต์ได้เรียกนายสมมาตร ดลมินทร์ เจ้าพนักงานที่ดินไปสอบถามกรณีไม่ยอมลงนามออกโฉนดที่ดินอีก 3 แปลง นายสมมาตรชี้แจงต่อหน้านายอนันต์และนายผันว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในทะเล หากตัดส่วนดังกล่าวออกก็จะออกโฉนดได้ นายวัฒนาก็ยอมรับ
ต่อมาเมื่อรังวัดที่ดินใหม่และออกโฉนดที่ดินได้ นายสมมาตรและพวก 2 คนนำโฉนดที่ดิน 3 แปลงไปมอบให้นายวัฒนาที่บ้าน และนายวัฒนาได้มอบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองคำแก่นายสมมาตรและพวกคนละ 1 องค์
ทั้ง 3 กรณี เป็นกรณีศึกษาในอดีตและถูกจับได้
นักการเมือง เจ้าหน้าที่ ยุคนี้ พึงสังวรณ์ ไว้บ้าง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบรายงาน พระเครื่อง จาก https://www.manphoppra.com ไม่เกี่ยวข้องเนื้อหาในรายงานแต่อย่างใด